สุวัจน์รางวัลคนโคราชเกียรติคุณ 100 ปี ราชภัฏโคราช แพลตฟอร์มใหม่ล้ำเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย เชื่อมโยงเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว-ซอฟต์พาวเวอร์
วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น.ณห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในงานสถาปนามหาวิทยาลัย”หนึ่งศตวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ในระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคมนี้ โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่ศิษย์เก่าเกียรติยศ และคนโคราชเกียรติยศ ซึ่งในครั้งนี้ นายสุวัจน์ ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ สาขาคนโคราชเกียรติคุณกับทางมหาวิทยาลัยฯ จากนั้น นายสุวัจน์ ได้ปาฐกถาพิเศษ “ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เราเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย” และในช่วงเย็นได้เป็นประธานร่วมงาน”ราตรี ร้อยดวงใจ 100 ปี ราชภัฏราชสีมา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
โดย นายสุวัจน์ฯ กล่าวว่าจากนี้ไปบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏคงจะต้องมีบทบาทมากขึ้นเพราะว่าวันนี้สังคมเรามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายสถานการณ์ และการผลิตบัณฑิต เพื่อให้มีความรู้ มีการศึกษาสามารถเอาไปประกอบอาชีพการงานได้อย่างเดียวคงจะไม่พอเพราะว่าโลกใบนี้ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ เรื่องแทบจะทุกวัน ทุกนาที ดังนั้น ทําอย่างไรที่จะสามารถสร้างพื้นฐานหรือติดอาวุธให้กับบัณฑิตที่จบไปแล้วสามารถที่จะต่อยอดในสิ่งที่ได้จากมหาวิทยาลัยมีภูมิคุ้มกันให้สามารถเผชิญกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สําคัญที่สุดในบริบทใหม่ของมหาวิทยาลัย หลังจาก 100 ปีไปแล้ว มหาวิทยาลัยฯ น่าจะเข้ามามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะพื้นฐานที่มหาลัยราชภัฏมีอยู่แล้วมันไปตรงกับจุดแข็งของประเทศไทย วันนี้ถ้าจะต่อสู้กันให้ประเทศไทยก็ไม่แพ้และสามารถจะแข่งขันกับโลกให้ได้ก็ต้องต่อสู้บนจุดแข็ง อย่าไปรบบนจุดอ่อน และถ้าเราจะสู้เรื่องเทคโนโลยี ผู้นําทางด้านเทคโนโลยี ยิ่งนําห่างก็ยิ่งห่าง ยิ่งตามห่างก็ยิ่งถูกตามห่างเรื่องเทคโนโลยีเรามีโอกาสสูงมาก ฉะนั้น วันนี้ต้องมาหาตัวตนของเราให้เจอ ตัวตนของประเทศไทยที่ว่าถ้ารบด้วยพื้นฐานของตัวตน เราจะไม่แพ้
นายสุวัจน์ กล่าวว่าวันนี้มีอยู่สามเรื่อง คือ 1.เรื่องเกษตร 2.เรื่องท่องเที่ยว 3.เรื่อง soft power ประเทศไทยเข้มแข็งมากเรื่องเกษตร เพราะเราเป็นประเทศผลิตผลทางด้านการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ แล้วเป็นผลผลิตทางด้านการเกษตรที่มีความสําคัญต่อการผลิตอาหารป้อนโลก ในวันที่ประชากร 8,000 ล้านคน แต่การขาดแคลนอาหารหรือความไม่มั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น เพราะโลกร้อน แผ่นดินน้อยลง คนเยอะขึ้น อาหารขาดแคลน ฉะนั้น คนที่มีผลผลิตทางการเกษตรจะเป็นผู้ครองโลก ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตร ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกยางพารา ขายเป็นวัตถุดิบอย่างเดี่ยว วันนี้เราต้องคิดเปลี่ยนเอาพื้นฐานเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม มาเป็นการแปรรูปเป็นมูลค่าเพิ่มยกระดับสินค้าการเกษตรและสร้างความยังยืนให้กับประเทศ นี่คือ จุดแข็งมากๆ ควรที่จะเป็นวาระแห่งชาติ หรือเป็นวาระของมหาวิทยาลัย ที่จะได้เข้าไปซัพพอร์ต หรือต่อยอดภาคเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งต่อเนื่อง
2.เรื่องท่องเที่ยวเป็นข่าวดีของประเทศ ข่าวดีของคนโคราช เป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่มากที่จะเฉลิมฉลองในโอกาสร้อยปี คือ การที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับการรับรองจากยูเนสโก ให้เป็น UNESCO Global Geopark หรือ อุทยานธรณีโลก (17 พ.ค.66) ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือ ทริปเปิลคราวน์ (Triple Crown) ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง “3 มงกุฎของยูเนสโก” ในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นแม่งานใหญ่ โดยการขับเคลื่อนของ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ฉะนั้น โคราชจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอินเตอร์ ในเส้นทางยูเนสโกรูท คือ มรดกโลก เขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑล ปักธงชัย และอุทยานธรณีโลก 5 อำเภอ อําเภอเมือง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ และอ.วังน้ำเขียว รวมเป็น 8 อำเภอ
อันนี้คือ ความยิ่งใหญ่ทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม ป่าเขาลําเนาไพร วิถีชีวิตชาติดึกดําบรรพ์ ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย ให้กับภาคอีสาน ให้กับจังหวัดนครราชสีมา และจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลทําไว้แล้ว อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์มาโคราช รถไฟทางคู่มาโคราช รถไฟความเร็วสูงมาโคราช โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐลงทุนไว้นับแสนล้าน จะได้ใช้ประโยชน์ในการที่จะรับส่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเที่ยวที่อีสาน เที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา
ฉะนั้น ราชภัฏไปช่วยดีไซน์ ไปช่วยวางคอนเซ็ปต์ ช่วยส่งเสริมในชุมชนให้มีความเข้าใจของความเป็นสามมงกุฎแล้ววางเครือข่ายว่าจะทำอย่างไร จะพัฒนาถนนอย่างไร ปรับปรุงถนนให้ปลอดภัยอย่างไร สร้างจุดชมวิว สร้างร้านอาหาร สร้างห้องน้ำ ทำตลาดสินค้าโอทอป เป็นต้น
3.เรื่อง soft power จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่เรียกว่า soft power rich ร่ํารวยด้วย soft power เพราะโคราช มีเพลงโคราช มีอาหารโคราช มีภาษาโคราช มีผ้าไหม มีมวย มีศิลปะ วัฒนธรรม มีหัตถกรรม เป็นอัตตาลักษณ์ของโคราชที่ชัดเจน ฉะนั้น soft power คือ พื้นฐานที่จะเป็นพลังทางเศรษฐกิจ จากพลังที่อ่อนโยน สามารถทําให้เป็นพลังทางเศรษฐกิจมาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเศรษฐกิจใหม่ๆ ฉะนั้น ราชภัฏโคราชสามารถที่จะมาสร้าง New engine
หรือนิวแพลตฟอร์ม ทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ แล้วเอาโคราชโมเดลมาเป็นตัวอย่าง เพราะเรามีพื้นฐานที่สมบูรณ์ มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ มีคนสองล้านกว่า มีสถาบันการศึกษาที่สามารถจะร่วมกันอย่างมหาวิทยาลัยสุรนารี,เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน,ราชภัฏโคราช นี้คือ ความยิ่งใหญ่ คือบริบทใหม่ ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ