“สุวัจน์” ประธานแถลง “ภัทราชัน”ฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี และค้นพบมะพอก พันธุ์ใหม่และสนห้าใบครั้งแรกของประเทศไทย
 
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ณ โคราชฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธานแถลงข่าว โคราชพบฟอสซิลปลาอายุ 115 ล้านปี พันธุ์ใหม่ของโลก ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานรรต ใจสำราญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย กิจการพิเศษ และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและ Assistant Professor Dr. Paul Joseph Grote นักวิจัย สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

นายสุวัจน์ กล่าวว่าจังหวัดนครราชสีมาถือว่าเป็นดินแดนที่ได้มีการค้นพบฟอสซิลเป็นจํานวนมาก จนนําไปสู่ความสำเร็จได้รับการรับรองจากยูเนสโก ให้เป็นโคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จากอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่ เป็นการสะท้อนให้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของฟอสซิลที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา

วันนี้ เป็นการแถลงข่าวการค้นพบในเรื่องของฟอสซิล ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของคณะ ประกอบด้วย ผศ.ดร.อุทุมพร ดีศรี จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกันทํางานวิจัยกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และร่วมกับพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คือ จากประเทศญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มนักวิจัยกลุ่มนี้ ได้ร่วมกันทําการวิจัยฟอสซิลของปลาพบที่บ้านโกรกเดือนห้า ตําบลสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นการพบในหลุมเดียวกันที่เคยขุดค้นพบไดโนเสาร์ ตอนนั้นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ได้ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ฟูกูอิ ของญี่ปุ่น ได้ขุดไปที่หลุมนี้ แล้วก็เจอซากไดโนเสาร์ดึกดําบรรพ์ในหลุมนี้

และวันนี้คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้มาขุดหลุมทํางานวิจัยที่หลุมเดิม เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้มีการค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ของโลกทั้งในระดับสกุลและชนิด เป็นสกุลใหม่ของโลก เป็นชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า “ปลาภัทราชัน” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ ปลาโคราช เอเมีย ภัทราซันไนท์ เพื่อเป็นการยกย่องถิ่นที่พบที่โคราช และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเนื่องมาจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา และรักปลา พระองค์หนึ่งของโลก รวมทั้งทรงมีคุณูปการ อย่างสูงยิ่งต่อปวงชนชาวไทย พสกนิกรชาวไทย ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโปรตีน และส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลา เช่น การเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ปลาหมอเทศ พันธุ์ปลานิล ให้กรมประมงนําไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน สําหรับการเลี้ยงและบริโภค

ทั้งนี้ ผลการวิจัยว่าฟอสซิลปลาดังกล่าว เป็นปลากระดูกแข็งก้านครีบอ่อน คล้ายสกุลเอเมีย (Amia) แต่เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก คณะผู้วิจัยจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาภัทราชัน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ โคราชเอเมีย ภัทราชันไน (Khoratamia phattharajani) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ที่เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลาและรักปลา รวมทั้งมีสายพระเนตรยาวไกล เช่น การทรงขอพันธุ์ปลานิลจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว มาขยายพันธุ์ในพระราชวังนับหมื่นตัว และมอบให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์ต่อ แจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศนำไปเลี้ยงเพื่อการขายและบริโภคจนสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนโปรตีนของประชาชนไทยได้ ทั้งนี้ คำว่า“ภัทราชัน” มาจากคำว่า “ภัทร+ราชัน” อันหมายถึง “พระภัทรมหาราช” ที่ประชาชนถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ นักวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พอล.เจ.โกรดิ และคณะ ยังได้วิจัยพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 3 ชนิด ได้แก่ มะพอกโคราช หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari khoratensis โดยชื่อชนิด “khoratensis” มาจากจังหวัดนครราชสีมาที่เป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ส่วนมะพอกของฮิลล์หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari hilliana โดยชื่อชนิด “hilliana”ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Arthur Hill ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องผล ซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้พบในสมัยไมโอซีนตอนปลาย แหล่งบ่อทรายพระพุทธ ตำบลพระพุทธ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้เป็นการค้นพบผลมะพอก สกุล Parinari เป็นครั้งแรกของเอเชียและคาบสมุทรแปซิฟิก รวมถึงแสดงให้เห็นว่าพืชสกุลนี้ปรากฎในเขตร้อนในสมัยไมโอซีน ก่อนหน้านี้มีการค้นพบแล้วในสมัยไมโอซีนที่แอฟริกา (เขตเอธิโอเปีย) และปานามา (เขตนีโอโทรปิก) โดยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Acta Palaeobotanica เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 และชนิดที่สาม คือ สนห้าใบหนองหญ้าปล้อง หรือ Pinus nongyaplongensis โดยชื่อชนิด“nongyaplongensis” มาจากแอ่งหนองหญ้าปล้องที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ซึ่งอยู่ในสมัยโอลิโกซีนตอนปลาย หรือไมโอซีนตอนต้น แหล่งเหมืองสแกงาม แอ่งหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นการค้นพบสนห้าใบครั้งแรกของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พอล.เจ.โกรดิ ร่วมกับ นายพลาเดช ศรีสุข ดำเนินการวิจัยและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Review of Palaeobotany and Palynology เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564