เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ยื่นหนังสือต่อศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่เพียงพอแล้ว เชื่อว่าการ ต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แฝงการเมือง ขณะที่นักเคลื่อนไหวการเมืองหลายกลุ่ม รวมตัวเป็นสภาที่ 3 จี้ นายกฯ เร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค นำมายื่นขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน นายจำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายฯ มองว่าการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝง โดยมองว่าสถานการณ์ดีขึ้น มาจากการที่ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโดยที่รัฐไม่ได้หยิบยื่นอะไรให้ขณะเดียวกันมองว่าแม้จะมีความกังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 แต่การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก จะเกิดผลกระทบต่อรายได้เพิ่มขึ้น
หลังมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปทางเครือข่ายฯ ระบุว่าจะหารือกันอีกครั้งว่าจะแสดงออกถึงการคัดค้านอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะไม่ทำให้สิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย
นักเคลื่อนไหวการเมืองหลายกลุ่มรวมตัวกันเป็นสภาที่ 3 เพื่อแสดงจุดยืนให้ นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชนโดยเร็ว หนึ่งในนั้น คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ผู้ที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่เข้ามาแก้ปัญหาการเมืองในช่วงแรกๆ ได้แสดงความคิดเห็นต่อการทำงานและขอให้ นายกฯ เร่งแก้ปัญหาปากท้อง
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ชี้ ยิ่งขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นานเท่าไร ความเสียหายในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะเสียหายมากขึ้นตามไปด้วย พร้อมเตือนระวังกับดักทางความคิด แก้ปัญหาโควิดสำเร็จไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังมองว่าระบบการตรวจสอบภาครัฐ ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไม่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านที่ไม่เข้มแข็งพอที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องช่วยกันทำหน้าที่นี้