เตรียมเคาะรายละเอียด “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” 1 แสนคัน คาดรัฐสนับสนุน 1 แสนบาท “สุพัฒนพงษ์” แจงรถใหม่ที่เข้าข่ายต้องผลิตในประเทศและเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ส่วนเงินคืน 1 แสนบาทนั้น เทน้ำหนักไปที่การลดหย่อนภาษีเงินได้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ได้เห็นชอบแนวทางสนับสนุนการเปลี่ยนรถยนต์เก่าเป็นรถยนต์ใหม่ หรือ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” นั้น หน่วยงานต่างๆ กำลังจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้ ศบศ.ในวันที่ 2 ธ.ค. 63 เพื่อพิจารณา

โดยประเด็นที่เห็นชอบตรงกันคือเงื่อนไขว่า รถใหม่ที่จะเข้าโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ จะต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และรถยนต์ที่เป็นรถไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศและ PM 2.5

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากรอบอายุรถยนต์เก่าที่จะนำมาเข้าร่วมในโครงการและต้องดูปริมาณรถยนต์เก่าเหล่านี้ว่ามีจำนวนเท่าใด จึงจะกำหนดอายุรถยนต์เก่าที่จะเข้าโครงการได้

สำหรับส่วนลดราคารถยนต์ใหม่ ภาครัฐจะใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาใช้สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ภาษี สรรพสามิตรถยนต์ยังคงมีอยู่ ส่วนจะมีอัตราเท่าใด อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ธ.ค.นี้

เปิด 7 ข้อเสนอ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่”

สำหรับโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ที่ประชุม ศบศ.เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ได้พิจารณาไปนั้น เป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้สรุปแนวทางการสนับสนุน

แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอแนวทางนี้โดยให้บริษัทรถยนต์คืนคูปองเงินสดให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ 100,000 บาท แต่ในการประชุม ศบศ.วันดังกล่าวให้น้ำหนักกับการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถใหม่ไปหักภาษีเงินได้ รวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน

ข้อเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย.63 ประกอบด้วย 7 โครงการ ได้แก่

1. โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) ด้วยการนำรถอายุ 12 ปีขึ้นไป มาแลกซื้อรถใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ECO Car หรือ XEV เช่น รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV, รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือรวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV

โดยจูงใจด้วยการเพิ่มมูลค่าให้รถเก่า 100,000 คัน และคันละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถใหม่ โดยมูลค่าที่เพิ่มเกิดจากการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถใหม่ไปหักภาษีเงินได้ รวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน

2. โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ ด้วยการสนับสนุนการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบ SWAP ในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า 100,000 คันต่อปี

3. โครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนของ ขสมก.โดยปรับเปลี่ยนรถประจำทางของ ขสมก.มาเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) 2,511 คัน โดยเช่าจากผู้ผลิตในประเทศก่อน

4. ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

5. ปรับปรุงกฎระเบียบให้รองรับการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าและเร่งรัดแผนการวางโครงข่าย Smart Grid เพื่อรองรับการสร้างสถานีอัดประจุทุกระยะ 70 กิโลมตรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถ BEV มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าในอัตราคงที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย

6. โครงการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

7. บริหารจัดการเงินทุนเพื่อการกำจัดซากและส่งเสริมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและยางล้อแห่งชาติ

ขอบคุณภาพประกอบ www.motorexpo.co.th