โคราชค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ของโลก สุวัจน์ปลื้มมีชื่อแปะท้าย “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ฉายานักล่าแห่งสยาม
นครราชสีมา
วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2562) ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสมามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ขึ้น โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบไปด้วย นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี, นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิล, ดร.โยอิชิ อาซูมะ (Dr. Yoichi Azuma) ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมเสนอผลงานวิจัย ท่ามกลางสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เปิดเผยว่า สำหรับ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siamraptor suwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารีอำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง 25 ปี ซึ่งสยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษา ค้นคว้าจากฟอสซิลรวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า โดยคาดว่า ฟอสซิลดังกล่าวมาจากสยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว
สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน
จากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สยามแรปเตอร์จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตั้งแต่ยุคครีเทเชียส ตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ(MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
โดยปี พ.ศ. 2554 ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” ซึ่งผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร ACTA GEOLOGICA SINICA ต่อมาปี พ.ศ. 2558 ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE และล่าสุดในปีนี้ การวิจัยได้ค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ , Dr. Soki Hattori , Dr. Elena Cuesta , ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล , Dr. Masateru Shibata และ Dr. Yoichi Azuma
ด้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นตัวที่ 12 ของประเทศไทย และนับว่าเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น กับนักวิจัยของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแหล่งฟอสซิล ที่ค้นพบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ภายหลังจากเริ่มค้นพบไม้กลายเป็นหินตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว จนเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ขึ้นที่ จ.นครราชสีมา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นผู้รับผิดชอบสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ หลังจากนั้นสถาบันก็ได้มีการศึกษาวิจัยจนค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหินอีกเป็นหมื่นชิ้น ส่วนการนำชื่อของตน ไปตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบในครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นเกียรติ์อย่างมาก อาจจะเป็นเพราะว่านักวิจัยทั้งไทยและญี่ปุ่น เห็นว่าตนเองมีส่วนในการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยให้กับสถาบันไม้กลายเป็นหินฯ และเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่อง จึงได้ให้เกียรติ์นำชื่อไปตั้งว่า “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ส่วนฉายานักล่าแห่งสยามนั้น ก็เป็นการตั้งฉายาให้ดูน่าสนใจและตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมองจากรูปร่าง ลักษณะความคล่องตัว ในการล่าหาอาหารของได้โนเสาร์สายพันธุ์นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับลักษณะของตนเองใดๆ ทั้งสิ้น นายสุวัจน์ฯ กล่าวทิ้งท้าย.