โควิดไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อ 1,582 ราย เผยยอดผู้เสียชีวิตคงที่ 97 ราย
เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชือ้ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,582 ราย ซึ่งสูงกว่าเมื่อวานนี้ (15 เมษายน 2564) เป็นตัวเลขที่สูงต่อเนื่อง โดยเกิน 1,500 ราย ติดต่อกัน 2 วันแล้ว ผู้ป่วยรายใหม่แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 921 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 656 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทั้งนี้ การระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 10,461 ราย ยังรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 9,884 ราย รพ.สนาม 577 ราย อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 16 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดของไทย รวม 39,038 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 15 เมษายน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 510,456 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 75,576 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศย้อนหลัง 14 วัน ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเราพบผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 1,000 ราย ติดต่อกัน 3 วัน โดยธรรมชาติของโรคที่มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-7 วัน
“การที่เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อวันนี้ ก็เกิดจากการติดเชื้อเมื่อ 5-7 วันก่อนหน้านี้ ขณะที่มาตรการปิดสถานบันเทิงเมื่อวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา พร้อมกับมาตรการทำงานจากที่บ้าน เมื่อมีมาตรการออกมา เราจะดูในระยะฟักตัวถัดไป โดยจะเห็นชัดเจนเมื่อครบ 2 ระยะฟักตัว ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังมีมาตรการที่ปฏิบัติอย่างทั่วถึง” นพ.เฉวตสรร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 139,623,508 ราย เป็นรายใหม่ 794,984 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 12,717 ราย สะสม 2,997,711 ราย โดยจุดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดหรือเป็นฮอตสปอต มีความร้อนแรงในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ คือ ประเทศอินเดีย รายใหม่ 216,850 ราย สหรัฐอเมริกา รายใหม่ 69,740 ราย และประเทศบราซิล มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่มากที่สุด คือ 69,117 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แนวโน้มการติดเชื้อทั่วโลก พบว่าแต่ละประเทศมีกราฟที่ต่างกันไป เช่น สหรัฐอเมริกา ก่อนเดือนมกราคม 2564 เคยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงมาก แต่ขณะนี้ลดลงต่ำและคงตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่วนอินเดีย มีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น กราฟชันมาก ขณะที่ฝรั่งเศส เคยมีจุดสูงสุดของกราฟประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 และลดต่ำลงในช่วงก่อนปีใหม่ หลังจากนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นอีก และสหราชอาณาจักร มีการติดเชื้อสูงสุดในเดือนมกราคม 2564 แต่ลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองถึงการฉีดวัคซีนในประเทศ ที่ทำได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ที่ฉีดไม่ต่อเนื่อง มีการหยุดระงับเพราะไม่มั่นใจ ทำให้การฉีดเป็นไปได้ล่าช้า
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย มีปัจจัยเอื้อต่อการระบาดที่รวดเร็วขึ้น ได้แก่ 1.การกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่กระจายได้เร็วกกว่าเดิม 1.7 เท่า ซึ่งพบได้มากในอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีการรวมสายพันธุ์ผสมกันระหว่างสายพันธุ์ใหม่ด้วย 2.ประชากรหนาแน่น พร้อมการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น อาบน้ำในแม่น้ำคงคา รวมถึงประชาชนรวมกันจำนวนมาก ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง และ 3.ขาดแคลนวัคซีน โดยออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีน เพื่อเน้นการใช้ในประเทศให้เพียงพอ
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น อินโดนีเซีย ติดเชื้อใหม่ 6,177 ราย มาเลเซีย 2,148 ราย ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 111 ของโลกจาก 116 เพราะมีการติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเร็ว อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในมาเลเซีย ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความคงที่ แต่ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงท้ายนี้