นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึก ติดตามข่าวสารสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรับมือ และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ รมว.มหาดไทย ประชุมร่วมกับ 16 จังหวัด ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์
วันนี้ (3 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (2 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุม ให้เตรียมการรับมือพายุโซนร้อนปาบึก ด้วยการบูรณาการทุกกระทรวง และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในการขับเคลื่อน ส่วนการเตรียมการรับมือล่วงหน้า ด้วยการแจ้งเตือนไปยังทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะภาคประมงและการท่องเที่ยวให้ระมัดระวังในการเดินเรือ และขอความร่วมมือภาคเอกชนให้หยุดเดินเรือในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุแล้ว
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ประสานทุกภาคส่วน เตรียมรับสถานการณ์ ด้วยการเตรียมกำลังพล เครื่องมือ และแผนปฏิบัติ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมให้หน่วยขึ้นตรงในพื้นที่ส่วนกลาง เตรียมสนับสนุนหน่วยแพทย์ เวชภัณฑ์ อากาศยาน และยานพาหนะ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมด่วนวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยัง จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือพายุปาบึก หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กำชับหน่วยงานให้เน้นเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยใน 3 เรื่อง ทั้งการเคลื่อนตัวของพายุ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัย วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงเตรียมพร้อมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ รับการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันท่วงที อาทิ เรื่องไฟฟ้า และการระบายน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ใกล้ชิด จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สำหรับเขื่อนต่างๆ ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน จากที่เขื่อนขนาดกลางส่วนใหญ่มีปริมาตรน้ำร้อยละ 70-80 ของความจุอ่าง ได้ให้โครงการชลประทานแต่ละแห่งระบายน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ทั้งนี้ ต้องไม่เร่งระบายออกมากเกินไป จนเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ภาคใต้จะยังคงมีน้ำเก็บกักเพียงพอ
ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีทั้งพื้นที่เกษตร พื้นที่เศรษฐกิจ และเขตเมือง ซึ่งหากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง กรมชลประทานจะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุทกภัย ที่สำคัญได้บูรณาการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบข่าวสารอย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ได้สำรวจตรวจสอบระบบอาคารชลประทานให้มีพร้อมใช้งานตลอดเวลาให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิมได้ จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำนั้น ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับให้ทุกหน่วยงานสังกัดบูรณาการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมและเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปริมาณฝนและน้ำท่าที่จะเพิ่มขึ้น โดยทุกพื้นที่ต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 16 จังหวัด เพื่อบูรณาการหน่วยงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำ