การแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ ร.9 ครั้งที่ 52 ระหว่างราชภัฏโคราช-ราชมงคลอีสาน ศึกลูกหนังกระชับมิตร จัดยิ่งใหญ่อลังการ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16.39 น.ณ สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธาน เปิดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 52 ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
กล่าวเปิดงานว่า ผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นประธานในการจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 52 ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ร่วมแรงร่วมใจจัดการแข่งงขันฟุตบอลประเพณีที่เปี่ยมด้วยสายใยแห่งความผูกพันของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 60 ปี
“การเล่นกีฬาต้องรู้แพ้ รู้ชนะ เล่นตามกฏกติกา มีความรัก ความสามัคคี มีน้ำใจเป็นนักกีฬา”นายสุวัจน์ กล่าวและย้ำว่า
การที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโล่รางวัลมาเป็นมิ่งมหามงคล เป็น 1 ใน 2 ของประเทศที่ได้รับพระราชทานโล่ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งยากที่มหาวิทยาลัยใดในส่วนภูมิภาคเทียบเคียงได้ ควรที่เราทุกคนในจังหวัดนครราชสีมา จะน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และควรช่วยกันรักษาเกียรตินี้ให้ดำรงสืบไป
ในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เจ้าภาพในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีโล่พระราชทาน ครั้งที่ 52 ผมขอขอบคุณ นักกีฬา ผู้ฝึกสอน คณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทาน ครั้งที่ 52 ขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และก่อนเปิดงานขอให้พวกเรายื่นไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทาน ครั้งที่ 52 ในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพ ภายใต้คอนเซ็ปท์ว่า “ Art and culture of khorat” ด้วยศาสตร์พระราชา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคำขวัญของจังหวัดนครราชสีมา “เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน แสดงให้เห็นว่าโคราชมีศิลปะและวัฒนาธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลประเพณีของพี่น้องสองราช ที่ผูกพันมายาวนาน
ที่สำคัญ ในปีนี้มีการแสดงเชียร์ลีดเดอร์ร่วมกันของทั้งสองมหาวิทยาลัยด้วยบทเพลงประจำมหาวิทยาลัย การแปรอักษรบนอัฒจันทร์อย่างยิ่งใหญ่ ขบวนพาเหรดเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประกอบในริ้วขบวนพาเหรดอย่างสวยงาม มีการล้อเลียนเหตุบ้านการเมือง มีการไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงโคราช และการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
และก่อนที่จะชมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ มีคู่เปิดสนามระหว่างศิษย์เก่าอาวุโสทั้งสองสถาบัน ผลการแข่งขันปรากฎว่าเสมอ เรียกว่า ฟุตบอลกระชับมิตร
อธิการบดี บอกว่า การแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานระหว่างสองสถาบันได้เริ่มจัดการแข่งขันในปีพุทธศักราช 2502 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานโล่ให้เป็นรางวัลแก่สถาบันที่ชนะการแข่งขันในแต่ละครั้งถือเป็นมิ่งมงคลที่ยังความภาคภูมิใจและความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่คณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของสองมหาวิทยาลัยและเป็นเกียรติยศแก่จังหวัดนครราชสีมา