สุวัจน์ เปิดศูนย์ฝ่าวิกฤติโควิด ชี้กู้ 1 ล้านล้านรัฐมุ่งแก้โควิดและเศรษฐกิจ
สุวัจน์ฯ เปิด “ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19” อย่างเป็นทางการที่โคราช ระบุรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาโควิดและเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน กู้ 1 ล้านล้าน เชื่อมั่น ช่วยแก้ได้ค่อนข้างครอบคลุม
วันนี้ (8 เมษายน 2563 ) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีเปิด “ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19” อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งอยู่ในภายในสำนักงานพรรคชาติพัฒนา ริมถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา , นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ,นายสุรววุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ท่ามกลางการต้อนรับของ นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา , นายประเสริฐ บุญชัยสุข รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา , นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 2 พรรคชาติพัฒนา , คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคชาติพัฒนา
ซึ่งมีการปรับพื้นที่ภายในอาคารสำนักงานพรรคฯ เป็นที่ทำการของ“ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19” โดยปรับพื้นที่เป็นโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยผ้า , ผลิตเจลล้างมือ และสเปรย์ฆ่าเชื้อแจกประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่ทำเป็นโรงพ่นฆ่าเชื้อโรคในรถยนต์ เพื่อบริการให้กับประชาชนทั่วไปฟรี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน และประชาชนที่มีจิตอาสา เข้ามาช่วยกันผลิตและทำงานร่วมกันไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย โดยแต่ละวันทางศูนย์ฯ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยผ้าได้เฉลี่ยวันละประมาณ 1,000 ชิ้น และผลิตเจลล้างมือหรือสเปรย์ฆ่าเชื้อได้ 1,000 ชุด สำหรับนำไปมอบให้กับผู้นำชุมชน และส่วนราชการต่างๆ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดตั้ง“ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19” เป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีความตั้งใจช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้น สอดรับกับมาตรการป้องกันโรค Social Distancing ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นมาตรการมาตรฐานที่ขณะนี้ทั่วโลกใช้กันอยู่ ส่วนการตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังไม่นิ่ง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือตัวยารักษาโรคนี้ ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันตนเอง จึงทำให้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงเวลาที่จะต้องเสียสละร่วมกัน เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งวันนี้ก็ได้เห็นภาพพี่น้องชาวไทย ต่างเสียสละและร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญควบคู่กันไป ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเรื่องของชีวิต และปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของปากท้อง ซึ่งรัฐบาลก็มองเห็นปัญหา จึงเร่งทำงานคู่ขนานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญทั้งสองอย่างนี้ โดยใช้พระราชกำหนดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อวางมาตรการและขอความร่วมมือประชาชนในการแก้ไขปัญหาโควิด-19
และล่าสุด ก็มีการใช้ประกาศใช้พระราชกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย แต่เนื่องจากงบประมาณปกติของประเทศมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องไปกู้เงินมาดำเนินการ จึงเป็นที่มาที่ไปของพระราชกำหนด 3 ฉบับ และพระราชบัญญัติอีก 1 ฉบับ ซึ่งก็คือ พระราชกำหนดที่จะกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง จะนำงบ 6 แสนล้านบาทเพื่อเอาไปดูแลผู้ที่ตกงานได้รับผลกระทบจากโควิด กับปรับปรุงระบบสาธารณสุขต่างๆ และอีก 4 แสนล้านบาท จะใช้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย จะนำเงิน 4 แสนล้านบาท ไปตั้งกองทุนรวม เพื่อรับซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในตลาดหลักทรัพย์ที่ครบดิวกำหนด ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจกระทบทำให้ผู้ที่ซื้อพันธบัตรไปขึ้นเงินไม่ได้ จึงขออำนาจจัดตั้งกองทุนรวม รับซื้อพันธบัตรเหล่านั้นเพื่อรักษาตลาดทุนเอาไว้ หรือรักษาเครดิตของตลาดหลักทรัพย์เอาไว้นั่นเอง รวมไปถึง อีก 5 แสนล้านให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปใช้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารของรัฐ แล้วเอาเงินสินเชื่อไปปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์อีกต่อหนึ่ง สำหรับปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 2% ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทุกๆมาตรการที่รัฐปล่อยออกมาควบคู่กันนี้ ตนคิดว่าค่อนข้างครอบคลุม เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการงบประมาณที่กู้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย นายสุวัจน์ฯ กล่าว.