นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่าสำหรับการทดลองฉีดวัคซีในลิง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม จะทราบผลการทดสอบ ประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ในขั้นตอนการทดลองวัคซีนนั้นต้องรอดูภูมิคุ้มกันของลิงจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเมื่อได้ผลต้องส่งต่อไปยังโรงงานผลิตขนาดเล็กที่ต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้จองโรงงานผลิตวัคซีน ไว้ 2 แห่ง คือ ที่สหรัฐอเมริกา สำหรับผลิตวัคซีน และ โรงงานของประเทศเยอรมัน ซึ่งมีโรงงานผลิตในประเทศแคนนาดา เพื่อผลิตตัวประกอบ หรือ ลิพิดนาโนพาเรนเกอร์ เพื่อนำสารเข้าสู่เซลล์ เบื้องต้นนั้นกำหนดให้ผลิตวัคซีนเพื่อทดลองในมนุษย์ที่เป็นกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 1หมื่นโดส โดยแบ่งเป็นระยะทดลองในคน เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ใช้อาสาสมัคร ไม่เกิน 100 คน, ระยะสอง ไม่เกิน 500 คน และระยะสาม หลักพันคน
นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่าสำหรับการเตรียมความพร้อมในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ได้เตรียมโรงงาน คือ บริษัทไบโอเนท-เอเชีย เป็นผู้รับเทคโนโลยีที่ได้จากต่างประเทศมาผลิต และหากขั้นตอนการทดลอง และทดสอบผ่านไปด้วยดี ประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งไทยจะพร้อมผลิตวัคซีน และหากเป็นไปตามแผนประเทศไทยจะมีวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสภายในปลายปี 2564 โดยในลำดับการทดลองที่เร่ิมจากหนู ไปลิงและสามารถพัฒนาเพื่อทดลองใช้ในคนกลุ่มของอาสาสมัครได้
ขณะที่ นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย แถลงยืนยันถึงความพร้อมต่อการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยที่ผ่านมาสามารถทดลองในสัตว์ทดลอง ได้เร็วภายใน 50 วัน แต่ตนไม่อยากให้ความหวังมาก แม้ขณะนี้จะผลิตวัคซีนไม่ได้ แต่ได้ค้นพบวิธีผลิตแล้ว
ทางด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงในช่วงท้าย ย้ำว่า การผลิตวัคซีนทั่วโลก นักวิจัยพยายามทุกวิถีทาง แต่ยังไม่มีใครทราบว่าวัคซีนรูปแบบใดที่มีผลต่อการป้องกัน ดังนั้นต้องใช้วการวิจัยและพัฒนาทุกรูปแบบที่มีอยู่ในโลก โดยของประเทศไทยขณะนี้ได้เร่ิมใช้แพลตฟอร์มผลิตแบบดีเอ็นเอ วัคซีน และ เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน หากงานวิจัยเป็นไปตามแผน และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ วัคซีนมีความปลอดภัย, ระดับภูมิคุ้มกันสูง และอยู่ได้นาน รวมถึงป้องกันโรคได้จริง ได้วางกรอบไว้ 12-18 เดือนมีวัคซีนใช้ แต่หากผลวิจัยและพัฒนาสะดุด ต้องปรับรูปแบบวัคซีนใหม่ และใช้เวลาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการพัฒนาของไทยนั้นหากเป็นไปตามแผนได้เริ่มทดสอบวัคซีน ปลายปี2563 หรือต้นปี2564 และหากผลวัคซีนได้ผล จะมีวัคซีนใช้ได้ ปลายปี 2564 แต่ทั้งหมดเป็นเรื่อของงานวิจัย.