หลัง ส.ว. เห็นชอบ 3 พ.ร.ก.กู้เงิน ด้วยเสียงท่วมท้นแล้ว ต้องจับตาหลังจากนี้คือ การตั้งดรีมทีมติดตามการใช้เงิน ปลายสัปดาห์นี้
ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 , พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง และได้ลงมติใหัความเห็นชอบ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับในตอนท้าย
ในการอภิปรายของ ส.ว. นั้นมีประเด็นเป็นข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายสนับสนนุให้รัฐบาล ตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม อาทิ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะจากประสบการณ์ในสภาฯ ของตน 14 ปี พบว่ามีการทุจริตและการกินหัวคิว โดยเป็น ส.ส. อย่างปี 2556 พบว่า ส.ส. จะได้รับค่าหัวคิว 20 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ใช่ผู้เสนอโครงการ หรือบางกรณีที่นักการเมืองเป็นผู้เสนอโครงการจะได้รับส่วนตัวต่างของโครงการหลักหลายล้านบาท ส่วนกรณีที่สภาฯ ตั้งกรรมการตรวจสอบนั้น ส.ว.ต้องได้สิทธิตั้งกรรมการตรวจสอบและติดตามได้เช่นเดียวกัน ขณะที่การแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่พบการจัดซื้อของหน่วยงานท้องถิ่นที่แพงเกินจริง ต้องได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกัน
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อรักษา และฟื้นฟู แม้ว่าการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจะทำให้เป็นหนี้ร่วมกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้เงินกู้เพื่อแก้วิกฤตให้ตรงเป้าหมาย อย่าให้ทุจริต เพื่อไม่ให้เด็กรุ่นหลังชี้หน้าด่าว่า คนรุ่นปัจจุบันสร้างภาระให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อส.ว.อภิปรายครบตามที่แจ้งความประสงค์แล้ว ก่อนที่จะลงมตินั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเข้าร่วมประชุม ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า จะขอชี้แจงหลังจากที่ส.ว.ลงมติแล้วเสร็จ แต่ถูกท้วงติง จากนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ว่า ตามปกติ รัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อสภาฯ ก่อนจะลงมติ ทำให้นายอุตตม กล่าวกับวุฒิสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยนายอุตตม กล่าวกับวุฒิสภา ว่า รัฐบาลตั้งใจออกพ.ร.ก. เพื่อเร่งเยียวยาให้ทั่วถึงและไม่ให้สถานการณ์วิกฤตของไวรัสโควิด-19 บานปลาย ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักถึงการบริหารงาน ที่ต้องติดตามอยย่างใกล้ชิด และตามหลักวินัยยการเงินการคลัง รวมถึงระเบียบที่ถูกต้อง
“ส่วนข้อห่วงใยต่างๆของส.ว.นั้น รัฐบาลขอรับไปใช้ประโยชน์ด้วยความละเอียดรอบคอบ จะส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงตลอดการดำเนินการ และจะประเมินประสิทธิผลทุกโครงการตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันการทุจริต ทำให้การใช้งบประมาณก้อนนี้เป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด” นายอุตตม กล่าว
จากนั้นวุฒิสภา ได้ลงมติโดยผลการลงมติแยกเป็นรายฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เห็นชอบ 242 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง, พ.ร.ก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เห็นชอบ 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และพ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นชอบ 243 เสียง งดออกเสียง 4เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับข้อทักท้วงของวุฒิสภานั้น ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญญ ที่มี นายยกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ. เตรียมแถลงถึงแนวทางการติดตามการใช้เงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1ล้านล้านบาท เบื้องต้นนั้นมี 3 องค์กรที่พร้อมร่วมตรวจสอบ คือ ป.ป.ช., ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 5 มิถุนายน.