สุวัจน์ เดินแบบ คู่แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ โชว์มรดกผ้าไหมย้อนยุค ในชุดสีฟ้า กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวหัวหิน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว บนเวที “หัวหินรำลึก”ครั้งที่ 10 ประจำปี 2563
สุวัจน์ ให้สัมภาษณ์ เชื่อมั่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะฟื้นตัวเป็นสิ่งแรก พร้อมมองถ้าโควิดเริ่มผ่อนคลาย เห็นด้วยกับ รัฐบาลที่จะ หาโมเดลต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยต้องคำนึงการควบคุมให้ต้องเอาอยู่
…….
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เวลา 19.00 น. ลานกิจกรรมด้านหลังศูนย์การค้าบลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท มอลล์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยย้อนยุค ในงาน “หัวหินรำลึก”ประจำปี 2563 ครั้งที่ 10 ร่วมกับดร.พัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดร.นิศากร สิงหเสนี นายกเหล่ากาชาดฯ นายประยงค์ จันทเต็ง นายอำเภอหัวหิน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ และพี่น้องประชาชนชาวหัวหิน
นายสุวัจน์ กล่าวเปิดงานว่าพอพูดถึง “งานหัวหินรำลึก” ผมเชื่อว่าพสนิกรชาวไทยชาวหัวหินคงรำลึกถึงพระมหาการุณธิคุณของทั้งสองพระองค์ว่าเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสองพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชพิธี ราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493และวันรุ่นขึ้นคือ วันที่ 29 เมษายน 2493 ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเสด็จแปรพระราชฐานโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง มาประทับ ณ วังไกลกังวล เป็นเวลา 5 วัน ฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อเมืองหัวหินและพสกนิกรชาวหัวหินทุกท่านจึงได้มารำลึกถึงวันที่ 29 เมษายนอยู่ทุกปี และการจัดงาน “หัวหินรำลึก” ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 10 ก็ได้มีการจัดงานเดินแบบผ้าไทยย้อนยุค เพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ ที่มีต่อการส่งเสริมผ้าไหมด้วยทั้งสองพระองค์ได้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่บางไทร จ.อยุธยา เพื่อที่จะส่งเสริมอาชีพแก้ไขปัญหาความยากจนและอนุรักษ์ฝีมือพื้นบ้านต่างๆ คือ การทอผ้าไหม การทอผ้าแพรวา และได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีอาชีพใหม่ เช่น ปั้นเซรามิค การปั้นตุ๊กตา ปั้นดินเหนียวต่างๆ ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ
หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติและทรงได้เฉลิมพระเกียรติพระนามว่า“สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” วันนี้ สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติก็ได้เปลี่ยนสถานะเป็นกรมหม่อนไหม ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมงานผ้าไหม เพื่ออนุรักษ์งานผ้าไหมให้อยู่คู่กับแผ่นดินของเรา และก็เพื่อพสกนิกรชาวหัวหินทุกท่านคงจะรู้จักศูนย์หัตถกรรมทอผ้าที่เขาเต่า โครงการ พระราชดำริฯ ของท่านทั้งสองพระองค์ ที่ทรงได้พระราชทานอาชีพใหม่ พี่น้องชาวเขาเต่าก็ประกอบอาชีพประมงในเวลาที่มรสุมเข้าไม่มีอาชีพประมงก็เลยรับพระราชทานอาชีพใหม่ คือ การทอผ้า ทอผ้าฝ้ายด้วยมือ จนกระทั้งวันนี้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ฉะนั้น พระราชกรณียกิจ ที่ทั้งสองพระองค์ได้อนุรักษ์ เรื่องผ้าไหม เรื่องผ้าไทย การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจัดงาน ได้จัดงานเดินแบบผ้าไทยย้อนยุค ถือว่าพวกเราพสกนิกรได้แสดงออกถึงการสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดี แด่สองพระองค์
นายสุวัจน์ กล่าวว่า การจัดงานเดินแบบผ้าไหมหรือผ้าไทยย้อนยุคในวันนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้ใช้สินค้าไทย สถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้ เราก็ต้องใช้นโยบาย “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” หรือนโยบาย Made In Thailand ไม่มีใครมาเที่ยว มาซื้อสินค้า คนไทยเที่ยวกันเอง คนไทยช่วยคนไทย ซื้อสินค้า สินค้าที่ใช้กันในประเทศ และเราก็คงได้ยินเรื่องการว่างงาน การตกงาน การที่ธุรกิจ SME ต่างๆ มีปัญหา ดังนั้น ถ้าเราได้ส่งเสริมการใช้ผ้าไหม การใช้ผ้าไทยนำมาตัดสวมใส่ก็จะทำให้อุตสาหกรรมการผลิต หรือผู้ที่ทำในอุตสาหกรรมผ้าไหม ผ้าไทยมีงานทำ ถือว่าเราได้ช่วยเศรษฐกิจทางอ้อม ช่วยแก้ไขการว่างงาน และมีการใช้ผ้าไหมกันเยอะๆ ก็จะเกิดการพัฒนาคุณภาพ พัฒนาการออกแบบ พัฒนาการผลิต ก็จะทำให้สินค้าได้มาตรฐาน Made In Thailand และสามารถส่งออกไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้ ก็จะเป็น นิวนอร์มอล ให้กับเศรษฐกิจการส่งออกต่างประเทศ
ที่สำคัญที่สุด เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ถ้าหลังโควิดการท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจของประเทศฟื้น เพราะวันนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเตรียมจะมาเมืองไทยเยอะมาก เพราะว่าในช่วงที่เราประสบกับโควิดที่ผ่านมา 5 – 6 เดือนนี้ ประเทศไทยสามารถสร้างชื่อเสียง ในการดูแลปัญหาเรื่องโควิด ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนกับมาตรการที่เข้มแข็งด้านสาธารณสุข ทำให้เราประสบความสำเร็จจนทุกประเทศทั่วโลกชื่นชมประเทศไทย และบอกว่ามาเมืองไทยเป็นเมืองที่ปลอดภัย วันนี้อยากมาเที่ยวเมืองไทย รัฐบาลก็ต้องออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงมหาดไทย ถ้าเรามี Team Work ของส่วนราชการ และลองปรึกษาหารือกับภาคเอกชน เพื่อหามาตรการรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อให้ได้เศรษฐกิจและได้มาตรการการจัดการกับโควิดด้วย
“ผมเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจกลับฟื้นปกติแล้วอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวเป็นแห่งแรกและช่วยผลักดันเศรษฐกิจกลับมายิ่งใหญ่ก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรื่องสินค้าโอทอป สินค้าผ้าไหม สินค้าผ้าไทย สินค้าหัตถกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในปฏิทินว่าถ้ามาแล้วจะต้องมาทำอะไรบ้าง การซื้อสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองอยู่ในปฏิทิน การมาชมมวยไทย การมาทานอาหารไทย ฉะนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเราถือโอกาสฟื้นฟูปรับฐานของเราเตรียมพร้อมเมื่อเศรษฐกิจดีเมื่อไร เศรษฐกิจการท่องเที่ยวก็จะดีขึ้น พอการท่องเที่ยวดีขึ้น เศรษฐกิจก็ฟื้นตัว เมืองหัวหินถือเป็นหนึ่งใน 5 เมืองหลักของเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทย วันนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่มาแต่คนไทยก็มาหัวหินเป็นอันดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าปีหน้าทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกตินักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับมาที่หัวหินมากขึ้น และสนใจที่จะกลับมาซื้อผ้าไทย ผ้าฝ้าย หรือไปเที่ยวที่ศูนย์หัตถกรรมผ้าทอเขาเต่า ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เป็นความภาคภูมิใจว่าเมืองไทยมีของดี เมืองไทยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของเราเอาไว้ได้”
ด้าน ดร.พัลลภ สิงหเสนี ผู้ราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเสริมว่ารายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว และรายได้หลักของการท่องเที่ยวก็มาจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งเรามีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว ผมมองว่าเมื่อรัฐบาลมีมาตรการที่จะเปิดประเทศให้ชาวต่างประเทศเข้ามา รัฐบาลต้องมีมาตรการที่รัดกุมพอสมควรในการที่จะคัดกรอง ในการวิเคราะห์ว่าชาวต่างประเทศที่จะเข้ามาเที่ยวควรเป็นอย่างไร เพราะเราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าค่อนข้างมากในการดูแลเรื่องโควิด
“ผมคิดว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นตรงนี้ ถ้ารัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมืองหัวหินก็มีความพร้อมทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ และด้านการบริการการท่องเที่ยว”ผู้ว่าฯ กล่าว