“นอร์ท เชียงใหม่” ร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญา “เก๊าเหง้าผะหญ้า” วิถีคนล้านนาจากคนรุ่นเก่า สู่คนรุ่นใหม่”
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 เวลา 9.00 น.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน“เก๊าเหง้าผะหญ๋า” วิถีคนล้านนาจาดคนรุ่นเก่า สู่คนรุ่นใหม่ ร่วมกับ นายณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกฯ อบจ.เชียงใหม่ โดยมีปรัชญาชาวบ้านกลุ่มผู้สูงอายุจาก 11 ตำบลในอำเภอหางดง นักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก
นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานว่า
โครงการนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มของนายอำเภอหางดง ในการให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นผู้นำทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ ศึกษาหาข้อมูลภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่กำลังจะหายสูญหายไป และเป็นความห่างระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่แรก มีเด็กและผู้สูงอายุมีความห่างกัน ทำให้การติดต่อสื่อสารเด็กกับผู้ใหญ่น้อยลง ประกอบกับเด็กไปศึกษา ไปทำงานที่ห่างไกลจากบ้าน ฉะนั้น การคุยการพูดจากันการถ่ายทอดปัญหาครอบครัว การถ่ายทอดปัญหาการทำงาน การถ่ายทอดประวัติของครอบครัวที่เป็นรากเหง้าของพวกเราสูญหายไปบ้างส่วน อาจจะไม่ได้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ภูมิปัญญาต่างๆ ที่สะสมในอดีตเอามาจัดนิทรรศการจัดแสดงให้น้องๆให้เด็กและเยาวชน มาเยี่ยมดู เยี่ยมชมจะได้รู้ว่าพื้นฐานประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของพวกเราเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความรักความหวงแหนในแผ่นดิน และกลับมาดูแลแผ่นดินของเรา
รองผู้ว่าฯ บอกว่าโครงการนี้ ถือเป็นครั้งแรกและต่อไปน่าจะมีอีกหลายๆ ปี เป็นงานประจำถิ่นของอำเภอที่สำคัญก็ได้เนื่องจากว่าอายุโดยเฉลี่ยของคนไทยเรามีอายุสูงขึ้นเปรียบเทียบเมื่อ 40-50 ปีก่อน เนื่องจากว่าเดิมอายุ 50-60 ปี ก็สิ้นอายุ อาจจะเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ เป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีการพัฒนาการทางการแพทย์ การโฆษณาต่างๆ ทำให้อายุของคนไทย เฉลี่ยมีในระดับสูงวัยมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การรองรับอย่างแรกจากเดิมเราคิดว่ามีการเกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี ตอนหลังมาเมื่อใครมีความสามารถสมรรถภาพ ประสบการณ์ของผู้สูงอายุเหล่านั้นที่เคยทำงานมา ไม่ว่าประสบการณ์ในเรื่องการแก้ไขปัญหา หรือภูมิปัญญาต่างๆ นำมาช่วยพี่น้องคนที่ยังทำงานอยู่ ในวัยทำงานอยู่ได้ ก็จะทำให้การทำงานต่างๆ ได้มีผู้สูงอายุแนะนำ เอาประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา มีความสมบูรณ์ มาช่วยคิดช่วยทำ ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็มีชมรมหลายแห่ง ที่เป็นชมรมที่ เป็น think tank ให้กับผู้ว่าฯ ให้กับหัวหน้าหน่วยงานราชการจังหวัด ในการที่จะฟังประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ภูมิปัญญาของเชียงใหม่ เพื่อมาประกอบการจัดงานการพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับพื้นฐานประวัติดั้งเดิม เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ที่สำคัญที่สุด เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ที่เป็นพื้นถิ่นของพวกเราทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด บางครั้งก็อาจจะถูกสังคมในยุคสมัยใหม่ได้กลืนไปหายไปได้กลับมาอีกครั้ง
ด้าน นายณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนี้ ผมสร้างมาเกือบ 20 ปี บนพื้นฐานที่ตั้งใจว่า จะทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างไร วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสทำเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงวัยในเขตอำเภอหางดง ผมมองว่างานนี้ มันไม่ได้จบแค่นี้ มันต้องต่อยอดไปได้อีกในระดับจังหวัดในระดับประเทศให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยสถานที่ๆ เหมาะสม เรามีสถานที่ๆสวยงาม ใต้ต้นฉำฉา ถ้าสามารถเชิญชวน ในอำเภอให้เกิดความคิดว่า ถ้าเราจัดตอนใกล้สิ้นปี เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชักชวนนักท่องเที่ยว ต่างจังหวัดให้มาร่วมงานได้ โดยมีพื้นฐานภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอหางดง มีของดีมากมาย เป็นจุดขายได้ แค่เห็นบรรยากาศวันนี้และความร่วมมือกันในวันนี้ ผมเห็นศักยภาพจะสามารถต่อยอดได้อีกเยอะ
ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเรามีหอประชุมใหญ่สามารถจุคนได้ ประมาณ 2,000 คน เราอยากให้งานสำคัญๆ ของอำเภอหางดง เทียบเท่ากับทางจังหวัดเชียงใหม่ คือ จังหวัดเค้าจัดยังไง เราก็จัดเหมือนกัน เช่น วันพ่อ วันแม่ วันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้เสนอโครงการต่างๆ กับอำเภอหางดง เพื่อช่วยกันส่งเสริมการเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป เพราะเรามองเห็นโอกาสด้านการเกษตร การเป็นแหล่งอาหารของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์โควิด มันชี้ชัดแล้ว ครั้งหนึ่งผมเคยคิดจะตอบโจทย์รัฐบาล ครัวไทยสู่ครัวโลกวันนี้ขอบคุณสำหรับโอกาสที่ดีกระจายความคิด ความอ่าน คิดว่าคงมีคนสนใจร่วมงานอยากจะร่วมอุดมการณ์ตรงนี้มาสนับสนุนให้เมืองไทยเป็นแหล่งอาหารของโลก จึงได้นำภูมิปัญญาเรื่องของเห็ด เรื่องของต้นกล้า ที่สามารถเพาะเห็ดเป็นอาหาร เห็ดเป็นยาได้ มาเป็นต้นกล้าให้ชาวหางดง โดยเชิญ ครูพยงค์ แสนกมล ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอ่างทอง ที่มีองค์ความรู้เรื่องพวกนี้ ได้มีเวที ให้ท่านได้แสดงเต็มที่ ซึ่งคุณค่าตรงนี้ ถ้าเราไม่มาเผยแพร่ หรือไม่มีโอกาสเผยแพร่ ผมจะรู้สึกเสียใจ เพราะว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมสร้างมาเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต
“ผมเชียร์ท่านนายอำเภอว่าเรามาช่วยกันคิดการทำตลาดกัน จะทำตลาดนัดประจำสัปดาห์ หรือประจำเดือน หรือการท่องเที่ยวปลายฤดูธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคนจะมาเที่ยวเชียงใหม่เยอะ ในอนาคตผมเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อไปในอนาคต” อธิการบดี กล่าวและย้ำว่า
“ผมต้องการสร้างมหาวิทยาลัยชีวิตให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยวิชาการ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ผมดำรงตำแหน่งอธิการบดี มา 20 ปีแล้ว ผมคิดว่ามหาวิทยาลัย ไม่มีอธิการบดีของรัฐ จะดำรงตำแหน่งได้ยาวนานอย่างนี้
“ผมถือพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านว่า “การให้การศึกษา เป็นการให้ที่สมบูรณ์ที่สุด” ฉะนั้น การศึกษาไม่ได้หมายถึงทางวิชาการอย่างเดียว วิชาชีวิต ผมคิดว่าพระองค์ตลอดชีวิตท่านปราวนาตัวให้กับวิชาการชีวิตมากว่าด้านวิชาการ” อธิการบดี กล่าว
นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า อำเภอหางดงวางเป้าหมายเป็นอำเภอเพื่อสุขภาพ โดยนโยบายของรัฐ กำหนดให้หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องรับมาแปลลงพื้นที่
วาระของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งใน สี่เรื่องที่เราจะขับเคลื่อนในการดูแลสุขภาพ ผู้สูงอายุของอำเภอหางดง ตอนนี้ มันเป็นไปตามเกณฑ์ขององค์กรสหประชาชาติ ตอนนี้เรามีผู้สูงอายุ 21.5 % ก็คือ จาก100คนจะมีผู้สูงอายุ 21.5 คน แสดงว่าคนที่เดินมา 5 คน ต้องมีคนอายุเกิน 60 ปี 1 คน ซึ่งเป็นที่มาที่ผมได้หารือกรมปกครองส่วนท้องถิ่น ทางท่านประธานผู้สูงอายุ และภาคส่วนราชการ ร่วมทั้งท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ก็ให้ความกรุณาอนุเคราะห์และสนับสนุนโครงการทุกเรื่อง
“วันนี้ เราอยากให้ผู้สูงอายุมีเวทีพื้นที่ในการแสดงออก เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ ลงไปสู่เด็กและเยาวชน อย่างเช่น กินอ้อผะหญ้า ถามว่าคนรุ่นใหม่ ไม่มีใครรู้จัก งานประเพณีสืบชะตา หรือพี่น้องชนเผ่าลั้ว รวมทั้งวันนี้ผู้สูงอายุจะฟ้อนเล็บแข่งกัน ทำอาหารแข่งกัน เป็นอาหารแบบโบราณของล้านนา ภูมิปัญญาเหล่านี้ เราอาจจะใช้เวลาไม่นาน แต่เราระดมการมีส่วนรวมและเริ่มจุดประกายเป็นปีแรก และปีต่อไปเราเริ่มจะมีการพูดคุยกันคิดว่าคงจะดีกว่านี้ “ นายอำเภอ กล่าวและย้ำว่า
มองในส่วนของการร่วมมือทุกภาคส่วนถือว่าประสบผลสำเร็จ ที่สำคัญวันนี้ เราเห็นว่าผู้สูงอายุมีความสุข นี้คือ สิ่งที่เราต้องการ ให้ผู้สูงอายุมีเวทีเล่น มีกิจกรรมได้แสดงออก เดียวตอนบ่ายจะมีการแข่งกีฬา สำหรับผู้สูงอายุ มีการเสวนา เราได้รับความกรุณาจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยหานอร์ท-เชียงใหม่ มาเป็นพิธีกรให้ การเสวนามีองค์เจ้าคณะอำเภอ และปราญช์ผู้สูงอายุในอำเภอหางดง 3-4 ท่าน ในการพูดคุยถ่ายทอดว่าเมื่อก่อนเป็นยังไง และปัจจุบันเป็นยังไง
ทั้งนี้ บรรยากาศในงานมีขบวนแห่จาก 11 ตำบล แต่งชุดพื้นเมือง ตีกลองสะบัดชัย ขบวนแห่บวชลูกแก้ว ขบวนฟ้อนเล็บ มีการจัดแสดงนิทรรศการชีวิต สะท้อนภูปัญญาของแต่ละตำบล และมีการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุ