เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีเปิดโครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การเงินของคนไทย โดยรวม มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 4 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกหนี้ครัวเรือนไทย ในปี 2562 ไตรมาสที่ 3 มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 78.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ และเมื่อได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สัดส่วนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 86.6% ในไตรใสที่ 3 ของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานะทางการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต
ประเด็นที่ 2 คือ ประเทศไทยกับลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 สัดส่วนของผู้สูงอายุหรืประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20 % ของประชากรไทยทั้งหมด ทั้งนี้จากสถิติผู้สูงอายุของไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่า มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป รวม 11.6 ล้านคน คิดเป็น 17.6% การดุแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินตั้งแต่วัยทำงานเพื่อใช้ในวัยเกษียณ จากข้อมูลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในปี 2560 พบว่า ในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน 31% ยังทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง โดยมีเพียง 2.3 %ที่สามารพึ่งตนเองได้ โดยมีรายได้จากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะเผชิญกับความภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต
ประเด็นที่ 3 ผลการสำรวจการออมเงินของภาคครัวเรือนไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย คิดเป็น 27.1% ไม่มีเงินออม ส่วนอีก 15.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 72.9 % ที่มีเงินออม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงวิธีการออม พบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมการใช้ก่อนออม ส่วน 38.5% มีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่นอน และ 22.6% ที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้
ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้ระบุถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาคไว้เป็นหนึ่งในภารกิจของการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั้งยืน โดยมุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดความยากจนข้ามรุ่น
ส่วนแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนในระยะต่อจากนี้ไป คือ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะจำเป็นที่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ และหนึ่งในทักษะดังกล่าวคือการเพิ่มพูนความรู้การเงิน การออม
3.การสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของจัดการความเสี่ยงในชีวิตจากการวางแผนที่ดีและมีข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออม และ 5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ความรู้ทางการเงิน ดังนั้น โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสมเพราะการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้คนไทยสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนได้ต่อไป