เฝ้าระวังมลพิษต่อเนื่อง 1-2 วัน แม้ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วสงบลงแล้ว แต่ค่าสารอันตรายยังสวิง หากฝนไม่ตกจะดี หวั่นกระจายไหลไปสู่พื้นที่โดยรอบ
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานของ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ภายใน ซ.กิ่งแก้ว 21 หมู่ที่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในปี 2564 ใช้เวลาในการควบคุมเพลิงนานหลายชั่วโมง นับตั้งแต่ช่วงเวลา 03.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม มาจนถึงช่วงเวลาเช้าตรู่วันที่ 6 กรกฎาคม 2564
ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความกังวลอย่างมากแก่ประชาชน ทั้งในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตรแรก ไปจนถึง 10 กิโลเมตร ว่านอกจากความเสียหายอันเป็นผลของแรงระเบิดที่เกิดกับที่พักอาศัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่ง คือ ผลกระทบที่จะตามมาของ “มลพิษ” โดยเฉพาะที่เป็น “สารสไตรีน โมโนเมอร์”
คำถาม คือ “สารสไตรีน โมโนเมอร์” มาจากไหน?
สารสไตรีน โมโนเมอร์ ที่ก่อความกังวลให้กับหลายๆ ฝ่ายนั้น เป็นสารเคมีที่ทางโรงงานแห่งนี้ใช้ในกระบวนการผลิต เมื่อเกิดการไฟไหม้และระเบิดของถังเก็บสารเคมี ขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 ลิตร จึงส่งผลให้มีไอระเหยของสารสไตรีนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายออกไปโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตร
โดยความอันตรายของ “สารสไตรีน” นั้นคือ หากถูกผิวหนังหรือมีการสูดดมเข้าไปในร่างกาย อาจส่งผลต่อระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับและไต รวมถึงทำลายระบบฮอร์โมนในร่างกาย และอาการเบื้องต้นอย่างอาการไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม
…
เฝ้าระวังมลพิษ “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว”
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงสถานการณ์ล่าสุดของมลพิษจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ย่านกิ่งแก้ว เมื่อเวลา 11.17 น. วันนี้ (6 ก.ค.) ว่า หลังจากกรมควบคุมมลพิษนำเครื่องตรวจวัดไปประจำการอย่างเร่งด่วน ในรัศมีทุกๆ 1 กิโลเมตรจากพื้นที่เกิดเหตุ ไปจนถึง 5 กิโลเมตร ก็พบว่า ค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเป็นเกณฑ์ที่ปลอดภัย
ณ เวลา 09.42 น. วันนี้ (6 ก.ค.) สภาพอากาศ จ.สมุทรปราการ จากการตรวจวัดของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ 5 สถานี (ต.ทรงคะนอง, ต.บางโปรง, ต.ตลาด, ต.ปากน้ำ และ ต.บางเสาธง) พบว่า
– PM2 .5 : 5-22 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
– PM 10 : 11-36 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
– O3 : 30-46 ppb
– CO : 0-0.52 ppm
– NO2 : 5-10 ppb
– SO2 : 0-7 ppb
แต่ว่าเพื่อความไม่ประมาท อธิบดี คพ. ยังขอให้มีการควบคุมพื้นที่ก่อน โดยเป็นพื้นที่ช่วงรัศมี 2 กิโลเมตรแรก เพราะสารอันตรายยังมีการกระจายตัว และยังมีการสวิงของค่าสารอันตราย ซึ่งพบว่า บางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ ดังนั้น จึงต้องขอควบคุมพื้นที่ไปก่อน
ส่วนกรณีประชาชนที่มีความกังวลการกลับเข้าที่พักอาศัยนั้น ทางกรมควบคุมมลพิษยังคงขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เบื้องต้น อาจมีการผ่อนปรนให้กับประชาชนที่อาศัยช่วงรัศมี 2 กิโลเมตรขึ้นไป ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ซึ่งในระหว่างนี้ อธิบดี คพ. ก็ย้ำว่า ทางกรมควบคุมมลพิษจะมีการประเมินสถานการณ์ตลอด แล้วจะพยายามลดพื้นที่ควบคุมลงมาให้แคบลง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษเท่านั้น
“ประชาชนที่อยู่นอกเหนือรัศมี 2 กิโลเมตรแรก ต้องรอประกาศจากทางจังหวัด (สมุทรปราการ) อีกครั้ง ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษจะมีการตั้งจุดกระจายในการตรวจวัดอยู่ตลอดเวลา เบื้องต้นจะทำการสแตนด์บายตลอดในช่วง 3 วันนี้”
นอกจากสภาพอากาศโดยรอบ จ.สมุทรปราการ แล้วนั้น ทางอธิบดี คพ. ก็ดำเนินการเฝ้าระวังในส่วนของมลพิษทางน้ำและทางดินด้วย โดยเปิดเผยว่า ตอนนี้ในส่วนมลพิษทางน้ำ ทางกรมควบคุมมลพิษได้ไปตรวจวัดห้วย คลอง บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสภาพอากาศก็ยังคงมีสิ่งที่เป็นกังวล โดยเฉพาะในโซน 1 กิโลเมตรแรก ถึง 2 กิโลเมตร เพราะว่าในพื้นที่ 1 กิโลเมตร เมื่อดับสนิทแล้วก็ยังมีสารเคมีระเหยอยู่ ซึ่งจะพยายามกระชับมาให้เหลือแค่ 1 กิโลเมตร
…
มลพิษทางอากาศจะคลี่คลายได้ 1-2 วันหรือไม่?
“เชื่อว่าอย่างนั้น เพราะตอนนี้สภาพอากาศโปร่ง แล้วก็มีลมพัดค่อนข้างดี แล้วจะทำให้การระเหยของสารเคมีกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว แล้วค่าของสารอันตรายที่ตรวจวัดได้ก็จะเจือจาง”
ขณะที่ ความกังวลต่อควันไฟขนาดมหึมาตลอด 20 กว่าชั่วโมงที่ผ่านมานั้น ว่าอาจจะเกิดการสะสมทำให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ในอากาศสูง ทางอธิบดี คพ. ยืนยันว่า ไม่มี PM 2.5 นั่นเพราะฝุ่นควันดำๆ กระจายไปหมดแล้ว คือ ตอนนี้ไม่มีการเผาไหม้ ในเมื่อไม่มีการเผาไหม้ ก็ไม่มีการปลดปล่อยควันดำอะไรออกมา เพราะฉะนั้น การระเหย การแพร่กระจายของสารเคมีที่เป็นสารอันตรายก็จะน้อยลง น้อยลงมากเลยจากก่อนหน้า
แต่ที่น่าห่วงกว่านั้น คือ “ฝนตก!”
หากฝนตก… “ก็จะแย่กว่าเดิม งานยากกว่าเดิม”
อธิบดี คพ. อธิบายว่า หากมีฝนตกเกิดขึ้น จะทำให้สารเคมีโดนฝนชะล้างไป และกระจายไหลไปสู่พื้นที่โดยรอบ ลงไปทางท่อระบายน้ำ ลงไปในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เพราะฉะนั้นก็จะยากต่อการจัดการ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานลำบาก ถ้าฝนไม่ตกจะดีกว่า…
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษจะเฝ้าสังเกตการณ์ช่วง 1-2 วันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการให้คำแนะนำหรือมาตรการต่างๆ ซึ่งจากนี้ต้องร่วมหารือกันในการนำสารเคมีเหล่านี้ออกจากพื้นที่ให้ได้
สำหรับการประเมินค่าเสียหายในเรื่องของผลกระทบ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางดิน ทางอธิบดี คพ. ยืนยันว่า ขณะนี้ต้องทำการประเมินค่าเสียหายของผลกระทบทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปสู่การเรียกค่าเสียหายในการฟื้นฟูทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป…
ล่าสุด สถานการณ์เหตุไฟไหมโรงงานกิ่งแก้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าทิ้งโฟมในพื้นที่เพื่อป้องกันการปะทุของเปลวไฟ ขณะที่ ผู้จัดการโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ได้เดินทางเข้าพบตำรวจแล้ว เบื้องต้น ยังไม่พบสาเหตุการรั่วไหลของสารเคมี.
ขอบคุณที่มาข้อมูล : www.thairath.co.th