นพ.ยง ระบุการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ต้องใช้วัคซีนเพิ่มขึ้นในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ในอนาคตต้องใช้วัคซีนให้ตรงสายพันธุ์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 มีเนื้อหาดังนี้…
โควิด 19 ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่ต้องการเพื่อหยุดยั้งการระบาด
ยง ภู่วรวรรณ 8 สิงหาคม 2564
ถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันป้องกันโรค เป็นจำนวนมาก ปัญหาการระบาดก็จะทุเลาลง และจะสามารถควบคุมได้ หรืออัตราการตายต้องน้อยลง
ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการ เราคำนวณมาจากความสามารถในการกระจายโรค แต่เดิมสายพันธุ์อู่ฮั่นการกระจายโรคจาก 1 คนติดไปสู่ผู้อื่นประมาณ 2-3 คน การคิดภูมิคุ้มกันหมู่ เรามีสูตร 1 – 1/อํานาจการกระจายโรค ถ้าอํานาจการกระจายโรคเป็น 3 ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการยุติโรค 1-1/3 หรือเท่ากับ 66% เราจึงคิดจะให้วัคซีนกับประชากรไทยให้ครอบคลุมให้ได้ 70% หรือประมาณ 50 ล้านคน ต้องใช้วัคซีน 100 ล้าน dose
แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปไวรัสตับตัวจากสายพันธุ์อู่ฮั่น ให้การกระจายโรคเท่ากับไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 2 ต่อมา เป็นสายพันธุ์ G ติดง่ายขึ้น สมมุติเป็น 1.5 เท่า และต่อมาเป็นสายพันธุ์ Alpha (อังกฤษ) ก็ติดต่อได้ง่ายขึ้นอีก สมมุติเป็น 1.5 เท่าอีก และเมื่อมาเป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ก็ติดได้ง่ายขึ้นอีกสมมุติเป็น 1.5 เท่าอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้การกระจายโรคตั้งแต่อยู่ที่จีนถ้ามีค่าเท่ากับ 2 เมื่อมาถึงสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย ก็จะเท่ากับ 2X1.5X1.5X1.5 คือ 6.75
หรือกล่าวว่าผู้ป่วย 1 คนสามารถกระจายโรคไปให้ผู้อื่นได้ 7 คน จึงทำให้เห็นโรคนี้ติดต่อกันง่ายมากขึ้น หาต้นต่อการติดต่อไม่ได้เลย
ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการ ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 1-1/7 หรือเท่ากับ 85%
แสดงว่าเราต้องการให้วัคซีน ในประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 85 เปอร์เซ็นต์ และถ้าทั่วโลกต้องการเพิ่มกันหมดทุกประเทศ ในการควบคุมการระบาดของโรค ปริมาณวัคซีนที่ขณะนี้ก็มีไม่เพียงพออยู่แล้วก็จะยิ่งไม่เพียงพอใหญ่ และบางประเทศจะเริ่มให้เข็ม 3 อีก ก็จะทำให้ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา เจอสายพันธุ์ที่ติดง่ายขึ้น เดลต้า แบบที่เราเจอ ก็มีผู้ป่วยร่วมแสนต่อวัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ประชากรใกล้เคียงกับไทยมีการติดเชื้อต่อวัน ไม่น้อยกว่าประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศไทยมาก อัตราตายที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแล้วจะน้อยกว่า
ประชากรเด็กจะเป็นประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ที่จะต้องกระตุ้นให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่มีอาการมาก แต่ก็จะแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี ถ้าต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามเป้าหมาย และวัคซีนในยุคต่อไปจะต้องพัฒนาให้ตรงกับสายพันธ์ที่ระบาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา