ครม.รับทราบทูตฯสัญจรแหล่งมรดกวัฒนธรรม-ยกระดับ 16 เทศบาลประเพณีดัน Soft Power นานาชาติ
ครม.รับทราบทูตฯสัญจรแหล่งมรดกวัฒนธรรม-ยกระดับ 16 เทศกาลประเพณี ดัน Soft Power ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 65 เดินหน้านำเสนอเนื้อหาสื่อที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมต.วธ.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ครม. ได้รับทราบสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำนโยบายหลักด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ดังนี้ 1.โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะทูตานุทูต มีเอกอัครราชทูตและคู่สมรสจาก 28 ประเทศ เข้าร่วม 2.ยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มุ่งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) จำนวน 16 เทศกาล เช่น ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง 3.จัดงานวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 343 คน
นอกจากนี้ ครม. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับงบประมาณ 572.10 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ ผลิตสื่อวีดิทัศน์ชุดช่างไทย และโครงการนักสืบสายรุ้ง ให้เด็กตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลและการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ โครงการฐานข้อมูลต้นแบบเพื่อการรับมือกับข่าวปลอม และโครงการหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงด้วยข้อมูลเครือข่ายสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไกและกระบวนการคัดกรอง เฝ้าระวัง และรู้เท่าทันสื่อ อาทิ ครูผู้นำนักสื่อสารเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และโครงการนักสืบสายชัวร์xชัวร์ก่อนแชร์สโมสร ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อสังคมให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคี อาทิ ผลิตหนังสือรวมเรื่องสั้น “เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ” และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาองค์กรสมรรถนะสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับภาครัฐ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการงานโครงการ เพื่อให้ผู้ขอรับทุนจากกองทุน อบรมนำร่องหลักสูตรการเป็นวิทยากรส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลเท็จกับหน่วยงานระดับสากลและในประเทศ
ทั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านประสิทธิผล ด้านประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพและด้านพัฒนาองค์กร มีผลการประเมินในภาพรวมคะแนนเต็ม 5 คะแนน ได้อยู่ที่ 4.8306 คะแนน และการประเมินการบริหารจัดการองค์กรเพื่อคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ได้รับผลการประเมินระดับ “A” (93.27 คะแนน) ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินผลฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้กองทุนฯ มีการสำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่กองทุนฯ ผลิตและสนับสนุนการผลิต รวมถึงให้มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการนำเนื้อหาสื่อที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด