โควิด 19 ยังอยู่ ปี 67 ไม่ถึง 4 เดือน โคราชพบผู้ป่วย 711 ราย ยังมีอีกเพียบไม่เข้าระบบรักษาในสถานพยาบาล หวั่นช่วงเปิดเทอม นร. นศ.กลับมารวมตัว เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น
นครราชสีมา-วันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้อัพเดทรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของพื้นที่ 4 จังหวัดในความดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 27 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 9 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวม 1,438 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา ในห้วงเวลาดังกล่าว มีผู้ป่วย 711 ราย รองลงมา คือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 335 ราย และเสียชีวิต 1 ราย , จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 205 ราย และ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 187 ราย
ทางกรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ทุกคนต้องป้องกันและระมัดระวังตนเอง ยิ่งใกล้จะเปิดเทอม นักเรียน-นักศึกษาต้องกลับไปเรียน มีการรวมตัวกันจำนวนมาก และมีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมถึง มีการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน มีความใกล้ชิดกัน จึงเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 และเชื้อโรคแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่าย ซึ่งคาดว่า ช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ เชื้อโควิด 19 อาจจะแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น ทุกคนจึงต้องระวังป้องกันตนเองด้วยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อน
และอีกสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พรบ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัด จึงไม่ค่อยระวังป้องกันตนเอง และจากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ พบว่า ยังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน ลักษณะอาการป่วยจะคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยปีที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิม ซึ่งสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล รวม 11,265 ราย มีผู้เสียชีวิต สะสม 81 ราย ซึ่งผู้เสียชีวติทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม 608
ดังนั้น ต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล และสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
หากตรวจ ATK แล้วผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับกลุ่ม 608 เมื่อมีอาการหายใจลำบากหรือมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา