‘ชัยธวัช’ ชี้ถ้า ‘เพื่อไทย’ ยังจับมือ ‘ก้าวไกล’ สังคมจะกดดัน ส.ว.เอง
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์รายการคุยนอกจอ ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถึงประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลว่า พอจะเห็นแนวทาง แต่คงไม่สามารถสรุปได้ว่า ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นัดประชุม จะมีข้อสรุปอะไรบ้าง สิ่งที่อาจจะประเมินได้ลำบากคือ เสียง ส.ว. เพราะ ส.ว.ไม่มีความเป็นเอกภาพมาก เนื่องจากไม่มีตัวแทนเหมือนพรรคการเมืองที่จะมานั่งคุยและหาข้อสรุปได้
นายชัยธวัชกล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ยากลำบาก เหมือนปี 2562 ที่พรรค พท. ชนะอันดับ 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะอันดับ 2 และพรรคอนาคตใหม่ชนะอันดับ 3 ซึ่งพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะเป็นปัญหาจากระบบ จากรัฐธรรมนูญที่วางเอาไว้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง คือ ตอนนั้นพรรค พปชร.รวมเสียงได้ก่อนพรรค พท.และพรรคอนาคตใหม่ มาปี 2566 เรายังอยู่ในระบบเดิม มีความยากลำบากไม่ได้ง่าย เพราะมีเสียง ส.ว.เดิมในปี 2562 ที่ ส.ว.บอกว่าถ้ารวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้จะโหวตให้ แต่ปี 2566 ไม่พูดเหมือนเดิมแล้ว ทั้งนี้ อยากจะย้ำว่าสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม ไม่ต้องนับความไม่พอใจของสังคม แต่ผลการเลือกตั้งชัดว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ต้องการเห็นพรรค ก.ก. และพรรค พท. มาเป็นรัฐบาลใหม่ เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม
“แม้ว่าฝั่งที่ชนะการเลือกตั้ง จะจัดตั้งรัฐบาลลำบาก แต่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ส.ว.จะเอาอย่างไร เมื่อยอมรับในความยากลำบากแล้ว ประเด็นที่ต้องเอาให้ชัด คือ อย่าเอาความกดดันแรงกดดันโยนให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ตอนนี้เราคล้ายกับเอาปัญหา เอาแรงกดดัน มาว่าการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่พรรคชนะการเลือกตั้ง ผมคิดว่าประชาชนกับสังคมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมเชื่อว่าถ้า 8 พรรคการเมืองจับมือกันแน่น จะไม่เกิดการพลิกขั้วรัฐบาลได้” นายชัยธวัชกล่าว
นายสรยุทธถามว่า ทำไมถึงเอาความกดดันโยนมาให้พรรคชนะเลือกตั้ง นายชัยธวัชกล่าว ถูกครับ ทั้งพรรค พท.และพรรค ก.ก. ถ้าเดินต่อไป ยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ สังคมจะตั้งคำถามกับ ส.ว. และกลุ่มตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้น 8 พรรคจะต้องจับมือให้แน่น
นายสรยุทธถามว่า 8 พรรคไม่ต้องกังวลใจที่ถูกกดดันว่าทำไมไม่รีบตั้งรัฐบาล เดี๋ยวประเทศไม่ได้เดินหน้า นายชัยธวัชกล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุดก็มีความสำคัญ ตนคิดว่าถ้าเราจับมือกันให้มั่น คงไม่ต้องรอถึง 9-10 เดือน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรค พท. ก็กังวลการติดล็อกตีความขอบังคับเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดียวครั้งเดียว ซึ่งมีประชาชนไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ตีความได้เร็ว ปลดล็อกตรงนี้ได้ก็ถือเป็นเรื่องดี
นายสรยุทธกล่าวว่า อาจจะเลื่อนและรอให้มีการตีความใช้ชัด นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องเลื่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการพูดคุยที่ชัดเจน แต่มีกระแสข่าวว่าพรรค พท.เสนอให้เลื่อน ก็เป็นไปได้ สังคมเข้าใจ ไม่ตำหนิ เพราะเข้าใจสถานการณ์ และอาจจะมีเวลาทำความเข้าใจกับ ส.ว.เพิ่มมากขึ้น
นายสรยุทธกล่าวว่า พรรค พท.มองว่าถ้าปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการ 10 เดือน จะเสียหายมาก นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าการยกตัวอย่างว่าจะรอถึง 10 เดือน อาจจะสุดขั้วไป ทำให้ดูน่ากลัวไป คิดว่าถ้า 8 พรรค จับมือกันแน่นไม่น่าจะเดินไปถึงจุดนั้น เพียงแต่ว่ามีหลายเรื่องต้องทำคือ หาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และปลอดล็อกการตีความข้อบังคับ ซึ่งจะทำให้การเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำได้ มันก็ไม่น่ากังวล
“การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีความสำคัญอันนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมาก ก็ส่งเสียงว่ารอได้เพราะไม่ต้องการขั้วอำนาจเดิมมาเป็นรัฐบาลต่อ เขาอุตส่าห์ออกเสียงเลือกตั้งมาชัดเจนที่สุดเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล เราก็รู้สึกว่ามันควรจะไปจบแบบนั้น” นายชัยธวัชกล่าว
นายสรยุทธถามว่า เชื่อว่าถ้ายืดเยื้อจะเป็นแรงกดดันกับ ส.ว. ไม่ให้กับพรรค พท.และพรรค ก.ก. นายชัยธวัชกล่าวว่า เชื่อว่าอย่างนั้น ตอนนี้ประชาชนเริ่มส่งเสียงออกมาแล้วว่า ไม่อยากเห็นพรรค พท.และพรรค ก.ก.ที่เขาเลือกทำให้พวกเขาผิดหวัง
นายสรยุทธถามว่า พรรค ก.ก.ไม่กลัวว่า ถ้ายันเอาไว้ ระหว่างนี้เขาตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และดูดงูเห่าไป นายชัยธวัชกล่าวว่า มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องหางูเห่า 60-70 คน ตนมั่นใจว่าพรรค ก.ก. ยังเอาลูกพรรคอยู่ แน่นอนว่าจิตใจคนเปลี่ยนไปมาได้ แต่เชื่อว่าการพยายามดูดงูเห่า 60-70 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย และ นักการเมือง ส.ส.ที่ตั้งใจทำงานระยะยาว ก็เห็นแล้วว่าเมื่อไหร่ที่เป็นงูเห่า อนาคตทางการเมืองหายไปทันที
นายสรยุทธถามว่า ทำไมถึงเชื่อว่า ถ้ายืนหยัดจับมือกัน แรงกดดันจะโถมไปที่ ส.ว. และพรรคอีกขั้วยอมรับในการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ก้าวไกล ก่อนเวลา นายชัยธวัชกล่าว ประสบการณ์ที่พยายามตีความข้อบังคับ ที่ 41 เพียงเพื่อต้องการไม่ให้โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำ ก็เป็นการแสดงออกชัดเจนว่า การโหวตซ้ำไปเรื่อยๆ เป็นแรงกดดันต่อ ส.ว.จริงๆ ไม่เช่นนั้นจะปล่อยให้มีการโหวตครั้งที่สองไปแล้ว
“เพราะ นายพิธา ประกาศชัดเจน ถ้าโหวตรอบ 2 ได้คะแนนไม่มากพอ ก็พร้อมเปิดโอกาสให้พรรค พท. ดังนั้น ในคราวที่แล้วถ้ามีการประชุมสภา ส.ว.ยังโหวตให้นายพิธาน้อย ทำไมต้องพยายามถึงที่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ต้องการให้โหวตซ้ำ เนื่องจากทุกการโหวตมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น ตนเชื่อว่า ประชาชนไม่ได้โทษพรรค พท.และพรรค ก.ก. ทั้งนี้ ตนไม่จินตนาการว่าจะยืดเยื้อ 9-10 เดือน เพราะนานเกินไป” นายชัยธวัชกล่าว
นายสรยุทธถามว่า ในการประชุม 8 พรรคร่วมครั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองต้องการให้ พรรค ก.ก.เสียสละ นายชัยธวัชกล่าวว่า ก็น่าจะมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่พูดทำนองนี้ พรรคการเมืองอื่นไม่ได้พูด ซึ่งในที่ประชุมก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ตนรับฟังและไม่ได้โต้แย้งอะไร เหมือนกับที่อยู่ในเวทีแถลงข่าว ตอนนั้นลุกขึ้นยืนเพราะคิดว่าแถลงจบแล้ว ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์พูดขึ้น เลยต้องนั่งลงไปใหม่
นายสรยุทธถามว่า ที่นายพิธาสื่อสารใน 2-3 วันที่ผ่านมาว่า สัจจะสำคัญกว่าเสียสละ เป็นการสื่อสารในนามพรรค ก.ก. นายชัยธวัชกล่าวว่า เป็นการสื่อสารของทางพรรค ก.ก. ซึ่งยืนอยู่บนพื้นที่ คือ เปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ และเป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่คาดหวัง อยากจะเห็นพรรค พท. และพรรค ก.ก. ทำประชาชนผิดหวัง ซึ่งทาง พรรค ก.ก.จะพยายามอย่างเต็มที่
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า ส่วนที่พรรค พท. เชิญพรรคการเมืองอีกฝ่ายมาพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล และมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกัน ว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรค พท.ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำชัดว่าเชิญพรรคการเมืองอีกฝ่ายมาพูดคุยกัน ยังไม่ได้เจรจาร่วมรัฐบาล ซึ่งเมื่อประชาชนฟังการแถลงข่าวและรูปแบบวิธีการพูดคุยกัน ทำให้เข้าใจว่ากำลังชวนเข้าร่วมรัฐบาล
ส่วนที่หลายคน มองว่าเป็นการยืมปากพรรคการเมืองอื่นเพื่อผลักพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ส่วนตัวก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการแถลงข่าวแบบนั้นเพื่ออะไร ซึ่งเนื้อหาที่มีการเตรียมไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่รู้สึกถูกตบหน้า เพราะเราก็เฝ้าดูการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร
นายสรยุทธถามว่า ที่มีคนเสนอว่า ถ้าพรรคอันดับหนึ่ง และพรรคอันดับสอง จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะยกให้พรรคอันดับสาม นายชัยธวัชกล่าวว่า พรรค ก.ก.คงไม่ได้ตัดสินใจที่จะยกให้ เราคงไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าแม้จะยังอยู่ในกติกาเดิมเหมือนปี 2562 แต่สถานการณ์ความเป็นจริงและผลการเลือกตั้งต่างออกไปมาก ความเป็นไปได้พรรคอันดับสาม ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าอันดับ 1 และ 2 จับกันแน่นจริงๆ เพราะพรรคอันดับ 3 ไม่มีวันจัดตั้งได้ถ้าพรรคอันดับ 1 หรือพรรคอันดับ 2 ไม่ไปร่วมด้วย