สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้สมัคร ส.ส.ฝ่ายหนึ่ง ใช้ความล้มเหลวจากการเลือกตั้ง มาเป็นเหตุผลที่ต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจผิดพลาด ส่วนฝ่ายที่เคยสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ก็เสนอแนวคิดกอบกู้ศรัทธา ด้วยการประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ทั้งหมดนี้ จะวัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งผลแพ้ – ชนะ คราวนี้ คือทิศทางและอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงสมาชิกรุ่นใหม่ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะร่วมงานต่อไปหรือไม่

เมื่อวันที่ (31 มี.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “หัวหน้าคนใหม่ ต้องเข้ามาสร้างเอกภาพภายในพรรค” คือคำตอบของนายถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา ที่เป็นแกนนำนัดสมาชิกพรรคมาพูดคุยเพื่อแสดงจุดยืนให้พรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า เป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงที่สุด

ส่วนอีกฝ่าย ที่เสนอให้พรรคทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระ คือนายพริษฐ์ วัชรสินธุ มองว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่ ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์พรรคและมีศักยภาพในการปฎิรูปพรรค โดยเชื่อว่า การเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง คือโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเอง กอบกู้ศรัทธาคืนมาจากประชาชน เห็นได้ชัดว่า ทั้ง 2 แนวทาง ต่างขั้วกันอย่างชัดเจน ซึ่งนายถาวร ระบุว่า หากมติของกรรมการบริหารพรรคไม่เป็นไปตามแนวทางที่เสนอ ก็พร้อมเคารพการตัดสินใจ

แต่ในมุมของนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างนายพริษฐ์ จะพิจารณาว่า มติที่พรรคที่ออกมา จะยังคงยึดหลักไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และไม่อยู่ข้างคนทุจริตหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นไปตามนั้น ก็จะพิจารณาบทบาทในการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับแนวทางการเลือกกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคคนใหม่ กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการณ์ จะยังรอให้ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ใหม่ก่อน เพื่อให้ ส.ส. กว่า 50 คน ที่ได้รับการเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของพรรค ซึ่งหากดูจากประวัติแต่ละคน จะเห็นได้ว่า มีเสียงสนับสนุนทั้ง 2 แนวคิดพอๆกัน

แต่ก็มีข้อเสนอจากฝ่ายที่ต้องการร่วมรัฐบาลว่า ควรให้ผู้สมัครระบบเขตทุกคน มีส่วนร่วมด้วย เพราะทุกคะแนนทำให้พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สัดส่วนของการสนับสนุนแนวคิด 2 ขั้วนี้ ก็จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/100773