สุจินตนา ชื่นชม ดินหิน ศิลปินต้นแบบจิตอาสา งานวาดภาพลายเส้น ชาโคล สร้างแรงบันดาลใจให้ นศ.ม.รังสิต ในนิทรรศการวาดเส้น

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล ประธาน JS​ Art​s Gallery ประธานมูลนิธิเก้า ยั่งยืน มาร่วมแสดงความยินดี กับ ดินหิน รักพงษ์อโศก ศิลปินอิสระ ในการจัดแสดงนิทรรศการวาดเส้น ณ Gallery ตึก 8 Digital Art มหาวิทยาลัยรังสิต ในระหว่างวันที่ 5-30 กันยายน 2567

คุณสุจินตนา เดินชมงานและกล่าวว่า ผลงานของเด็กวัยรุ่นในยุคสมัยใหม่นี้ สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะแบบเยาวชนที่สร้างสรรค์ โดยเด็กเยาวชน แล้วให้เยาวชนมาดู ซึ่งมาดูแล้วก็ประทับใจอย่างยิ่ง เด็กๆ มีความคิดที่เป็นการ์ตูนเป็นความสนุกสนานแล้วแสดงออกมาเป็นภาพวาด ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการ์ตูนที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ สําหรับเล่นเกมทั้งหมดแต่ก็สามารถมาเป็นภาพวาดและภาพเขียน ทางมหาวิทยาลัยรังสิต ก็อาจจะทำเป็นสินค้าซึ่งจะอยู่ในกางเกงยีนส์ อยู่ในผ้าพันคอ อยู่ในแก้ว อยู่ในอะไร เด็กก็ไปคิดใส่มา อันนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดีสําหรับเด็ก และเด็กๆ สามารถทํามาร์เก็ตกิ้งได้ตลอดเวลา คือ เอาสินค้าที่เกิดจากอิมเมจของตัวเองขึ้นมาทําเป็นสินค้า เพื่อการตลาด อันนี้อย่าไปคิดว่าเราจะสู้กับจีน หรืออะไร แต่ว่าเราต้องพยายามสนับสนุนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ออกมาทํางานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ ให้ออกสู่ตลาดโลก ตลาดการท่องเที่ยวที่แตกต่าง เราไม่จําเป็นต้องเอาแต่สินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ควรเป็นสินค้าที่เป็นงานฝีมือที่ผลิตโดยมือเด็ก หรือใช้การผลิตที่เรียกว่า limited edition ซึ่งการผลิตผลงานแบบนั้นจะทําให้สามารถสร้างราคาได้ ไม่ต้องผลิตเป็นล้าน ซึ่งเราไม่สามารถสู้จีนได้ในการผลิตเป็นจํานวนมากแล้วราคาจะถูกจริง แต่เราอาจจะทำงานที่ทําด้วยมือ ทําด้วยหัวใจ หรือมีข้อจํากัด คือ เราไม่ได้เป็นอุตสาหกรรม แต่ทำแบบมีข้อจํากัด เช่น ทําได้แค่ร้อยชิ้น ทําได้แค่ 500 ชิ้น ก็จะทําให้คนอยากได้มากกว่า คิดดูคนเป็นล้านคนใส่อะไรสักอย่างเหมือนกันหมดก็รู้สึกว่ามันไม่สนุก แต่คนร้อยคนไปเจอคนที่มีของหนึ่งคนที่เหมือนตัวเองก็ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ อันนี้เป็นอีกแนวหนึ่งในการสู้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และในด้านการวาดรูปแนวใหม่เป็นของใหม่สําหรับเด็ก

ซึ่งเด็กรุ่นใหม่จะชอบของแบบนี้เป็นดิจิทัล แต่เรามาเปลี่ยนแปลงเป็นเพ้นท์ติ้ง เป็นอะไรแล้วเอาลงไปในสินค้าแต่ละตัว ซึ่งเป็น limited edition ก็จะทําให้สินค้านั้นมีมูลค่า และน่าสะสมมากขึ้น ลองคิดดูว่าอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนุกสนานในการพัฒนา ถือว่าเป็นซอฟท์พาวเวอร์กับกลุ่มเยาวชนกลุ่มใหม่ๆ

“บ้านเราต้องเปลี่ยนทิศทางการทําตลาด เพื่อให้เด็กๆได้มีโอกาส นั่นคือ การสร้างเด็กให้มีโอกาส ถ้าเด็กมีโอกาสไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็สตาร์ทอัพได้ แต่ถ้าเราไม่พัฒนาอุตสาหกรรมเล็กให้เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจแล้ว เราจะสู้ใครไม่ได้ในโลก แต่ถ้าเราเป็นอุตสาหกรรมที่เป็น limited edition แล้วเราจะสู้ได้”คุณสุจินตนา กล่าว

ด้าน นายดินหิน รักพงษ์อโศก ศิลปินผู้ชำนาญการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคเฉพาะจากถ่านชาโคล กล่าวว่านิทรรศการวาดเส้น คือ ตั้งใจจัดให้เด็กได้มาเรียนรู้ชาโคล เท่านั้นเพราะเด็กๆ ที่นี้เป็นเด็กนานาชาติและไม่ได้เรียนศิลปะแต่มันปรับเปลี่ยนได้และเป็นการพิสูจน์ว่าเด็กที่ไม่เคยเรียนรู้ศิลปะเลย ถ้าเราอธิบายดีๆ ให้เขาเข้าใจ แล้วทําให้ดู เขาทําได้หลายๆ คนทําได้ดี เพราะว่ามันเป็นแค่เริ่มต้นคือ มังคุด เขียนอย่างไรให้มันกลม ให้มันมีแสง มีเงา มีเงาแก่ เด็กก็ทําได้

สำหรับงานนิทรรศการในครั้งนี้ นายดินหิน กล่าวว่าจะเป็นงานเขียนในหลวง ร.9 ในหลวง ร.10 สมเด็จย่า และงานเขียนให้เพื่อน คือ เป็นงานที่เราทำประจําไว้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้ขายแต่มอบให้ฟรี เพื่อให้เค้าเอาไปทำบุญ ทำประโยชน์เพื่อสังคม ล่าสุด มอบให้จังหวัดสกลนคร เอารูปไปประมูล ช่วยเหลือวัด หรือ เอาไปช่วยน้ําท่วม คือ คนยังต้องการรูปในหลวง ร.9 ร.10 อยู่จำนวนมาก

นอกจากนี้ รูปส่วนหนึ่งจะเขียนให้ผู้ใหญ่ ให้เพื่อน และคนที่เสียชีวิต
คือ พอเราจะเขียนรูปจะดูว่าอยากจะเขียนอะไรตอนนั้น เราก็จะหาเรื่องเขียน หรือบางทีรูปนี้ไม่อยากเขียนก็จะเก็บไว้ก่อน รูปนี้อยากเขียน เราก็จะมาเขียนอะไรอย่างนี้ เขียนตามใจตัวเอง

“ความฝันของผม คือ อยากจะให้คนที่ชอบวาดรูปมาจับชาโคลบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วชาโคล ไม่มีใครทํา แต่ถ้าทําแล้วจะเห็นว่าเป็นการเขียนรูปที่มันง่าย มันได้ผลเร็ว เพียงแต่เรียนรู้กับมันนิดหน่อย รู้เทคนิคก็จะทําได้ไวกว่าดินสอ มันจะต้องมานั่งสานเส้น ให้เกิดเป็นน้ําหนัก เกิดเป็นวอลลุ่ม เมืองนอกเขาใช้ชาโคลกัน ตอนนี้เมืองไทยเราเหมือนกับไม่มีใครพูดถึงเรื่องชาโคล เราก็พยายามรณรงค์ชาโคล ว่า ในชีวิตเราอยากจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน โดยให้เอาชาโคลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการวาดรูป ของการเริ่มต้นของเด็กๆ ซึ่งเขาจะทําได้ เราทดลองมาหลายวัย แล้วเขารู้สึกว่าพอเขาเริ่มปั๊บ เขารู้สึกว่ามันง่ายๆ กว่าดินสอก็พยายามสอนฟรี และเผยแพร่ เพราะมีความฝันลึกๆ ว่าวิธีการเรียนการสอนของไทย ถ้าเอาชาโคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวาดรูป จะทําให้เด็กสนุกขึ้น แล้วมีทางเลือกมากขึ้น“ ดิน หิน กล่าว