“อยุธยา”พร้อมสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนวันละ 300 ตัน
เป็นต้นแบบนำร่องการกำจัดขยะแบบครบวงจร
อยุธยา – องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อบจ.พระนครศรีอยุธยา) เตรียมลงนามในสัญญาให้
เอกชนร่วมทุนโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ
บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด (ECW) เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบกำจัด
ขยะมูลฝอยแบบครบวงจร และสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงโดยใช้
ขยะมูลฝอยประมาณวันละ 300 ตันมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel)
จากสัญญาดังกล่าวบริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด (ECW) จะเป็นผู้ลงทุนใน
กระบวนการจัดการเชื้อเพลิงขยะที่รับจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ซึ่งจะก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะแบบเชิงกลและชีวภาพ (Mechanical
Biological Treatment : MBT) ร่วมกับเทคโนโลยีเตาเผาขยะชุมชนและผลิตพลังงานไฟฟ้า (Stoker-Type Incinerator) ในโครงการ บนที่ดินราชพัสดุ ขนาดพื้นที่ 73 ไร่ 2 งาน ณ ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อบจ.พระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ครอบครองสิทธิการเช่าจากกรมธนารักษ์
โดยบริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา)จำกัด (ECW) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเช่าที่ดินนั้น
แก่กรมธนารักษ์ ทั้งนี้ ECW มีระยะเวลาดำเนินกิจการตามสัญญานาน 24 ปี เมื่อสิ้นสุดสัญญา ECW จะส่งมอบ
กรรมสิทธิ์ในระบบ สิ่งก่อสร้าง อาคาร เครื่องจักร วัสดุ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์อื่นๆของระบบให้เป็นกรรมสิทธิของ
กระทรวงการคลัง
บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด (ECW) เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่าง
บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75 กับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 ด้วยทุนจดทะเบียน เริ่มต้น 32.5 ล้านบาท
นายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท EEP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทECW เปิดเผยว่าโครงการ
ผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ณ ศูนย์จัดการขยะต้นแบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต.มหาพราหมณ์ อ. บางบาล
จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้เงินลงทุนในโครงการประมาณ 990 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารระบบ
ผลิตเชื้อเพลิงขยะแบบ MBT และเครื่องจักรกลหลัก เป็นเงิน 20 ล้านบาท การปรับพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน
และระบบสาธารณูปโภค เป็นเงิน 50 ล้านบาท งานก่อสร้างอาคารและระบบเตาเผาขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็น
เงิน 800 ล้านบาท งานระบบสนับสนุนและอุปกรณ์เครื่องจักรหนัก เป็นเงิน 35 ล้านบาท ค่าเช่าที่ดิน 14.66 ล้านบาท
และงานสนับสนุนอื่น ๆ เป็นเงิน 70.34 ล้านบาท โดยแหล่ง เงินทุนแบ่งสัดส่วนเป็นการกู้เงินจากธนาคารในประเทศ
ร้อยละ 70 ในวงเงิน 693 ล้านบาท และเงินทุนของผู้ร่วมทุน ร้อยละ 30 เป็นเงิน 297 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคืนทุน
ประมาณ 7 ปี มีแหล่งรายได้จากค่ากำจัดขยะรับจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา อัตราตันละ 200 บาท และรายได้
จากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
“การที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินโครงการนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหลายด้าน เช่น ส่งเสริม
ให้การจัดการขยะชุมชนเป็นไปอย่างเหมาะสมโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งเสริม
ให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบทางเลือก นอกจากนี้ศูนย์บริหารจัดการขยะ ยังจะเป็น
ตัวอย่างของรูปแบบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับ
ส่วนแบ่งจากผลตอบแทนรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้า และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม ด้านสุข
อนามัยของประชาชนด้วย ” นาย อบีนาช มาจี้ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับที่มาของโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชนในจังหวัด พระนครศรีอยุธยานั้นเกิดจาก แผนการดำเนิน
งานระยะยาวของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้ลงทุนแปรรูปขยะมูลฝอย
เป็นพลังงาน โดยมอบให้ กฟภ. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อการกำจัดขยะ จึงเป็นที่มาของการร่วมทุนระหว่าง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยบริษัทในเครือ คือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ( PEA ENCOM )
กับ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ ในการดำเนินธุรกิจบริหารจัดการ
ขยะชุมชนอย่างครบวงจร ด้วยการนำขยะชุมชนมาแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า
แบบใช้พลังไอน้ำ ในพื้นที่ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเป็น
บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้(พระนครศรีอยุธยา) จำกัด และเข้ายื่นความจำนงเข้าร่วมลงทุนดำเนินโครงการ
ผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ของ อบจ.พระนครศรีอยุธยาดังกล่าว