มาตามนัด…เทียนพรรษาล้อการเมือง “พิธาจับมืออุ๊งอิ๊ง” ร่วมตั้งรัฐบาลในขบวนแห่เทียนพรรษายิ่งใหญ่กว่าทุกปีของเมืองย่าโม

 นครราชสีมา-วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566)  ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 172 ม.5 บ้านกอก ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พบกับนายวัชระ นาดี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 ซึ่งกำลังแกะสลักหุ่นเทียนพรรษารูป “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับหุ่นเทียนรูป “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง”  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย  โดยหุ่นเทียนทั้งสองมีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร และแกะสลักให้หุ่นของทั้งสองจับมือกัน

 โดยนายวัชระ นาดี กล่าวว่า สาเหตุที่แกะสลักหุ่นเทียนพรรษาเป็นรูปของนายพิธาฯ จับมือกับ น.ส.แพทองธารฯ ก็เพื่อแสดงออกถึงการร่วมมือกันในการบริหารประเทศไทย เพราะผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งสองพรรคมีคะแนนนำ ตนจึงได้แกะสลักเทียนสร้างสีสันเทียนพรรษาล้อเลียนการเมืองเท่านั้น ซึ่งแต่ละปีจะดูว่ามีเหตุการณ์หรือกระแสอะไรที่กำลังเป็นที่นิยมของประชาชนบ้าง ก็จะนำมาแกะเป็นหุ่นเทียนพรรษาของปีนั้นๆ โดยปีที่แล้วแกะสลักหุ่นเทียนพรรษาเป็นรูป “น.ส.พรพรรณ เกิดปราชญ์ หรือชมพู่” กัปตันทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่เป็นที่นิยมและประชาชนให้ความสนใจอย่างมากในตอนนั้น ปีนี้การเมืองร้อนแรง จึงแกะเทียนล้อเลียนเป็นรูปนายพิธาฯ จับมือกับ น.ส.แพทองธารฯ และหากวัดใด ต้องการจะนำหุ่นเทียนล้อเลียนการเมืองที่ตนแกะสลักขึ้นมา ไปประดับไว้ในขบวนเทียนฯ ก็ยินดีมอบให้  ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างสีสันกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาชมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของเมืองโคราชได้ด้วย

 นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปเก็บภาพบรรยากาศการแกะสลักเทียนพรรษาของแต่ละวัดในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  โดยวัดแรกคือ วัดเดิม ซึ่งปีนี้แกะสลักขบวนต้นเทียนพรรษาขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ  สมกับเป็นแชมป์เทียนพรรษาโคราช ชนะเลิศอันดับ 1 ขบวนต้นเทียน ประเภท ก. ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ  พร้อมเงินรางวัลไปครอง  ในขณะที่วัดใหม่ประตูชัย
อ.พิมาย ที่คว้ารางวัลชนะเลิศต้นเทียนประเภท ข. ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานและเงินรางวัลไปครอง ก็เร่งมือแกะสลักต้นเทียนประกอบเข้ารถแห่เทียนด้วยเช่นกัน และยังมีวัดเก่าประตูชัย วัดบูรพาพิมล หรือวัดบุ่ง ทั้งพระ ช่างแกะสลักเทียน และฆราวาส ต่างระดมกำลงช่วยกันหล่อพิมพ์  ขึ้นลาย แกะสลักเทียนพรรษากันอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเข้าประกวดให้ทันงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดนครราชสีมา ในชื่องาน “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2566 ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี .

////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา