สุวัจน์ รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อีกสมัยหนึ่ง เน้นย้ำให้การศึกษาเป็นวัคซีนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศ

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ณ ห้องประชุมอนุสรณ์ 70 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ให้ดำรงต่ำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2566

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารู้สึกสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอีกครั้งหนึ่ง ผมดํารงตำแหน่งนายกสภาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นสถาบันราชภัฎนครราชสีมา เมื่อปี 2538 จนถึงปัจจุบันก็เกือบ 30 ปี ที่ได้ทํางานร่วมกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย และเห็นว่าวันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยในเรื่องของการให้การศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นวัคซีนที่สําคัญในการดูแลปกป้องรักษาขีดความสามารถในด้านการแข่งขันของประเทศเพราะวันนี้ความผันผวนในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ทําให้เราขาดความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการรักษาขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันการศึกษาจะเป็นพื้นฐานที่จะสร้างความยิ่งใหญ่

ฉะนั้น จะได้ร่วมมือทำงานกับท่านอธิการบดี และคณาจารย์ต่างๆ ในการที่จะบริหารจัดการ การให้การศึกษากับเยาวชนพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสาน เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันและทําให้เราสามารถที่จะต่อสู้กับวิกฤตต่างๆ รอบตัวเรา
แต่ขณะเดียวกันบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้เรื่องการศึกษา แต่จะต้องตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ของจังหวัดว่าจังหวัดนครราชสีมาหรือพื้นที่ใกล้เคียงมีนโยบายในการพัฒนาอย่างไร มหาวิทยาลัยราชภัฎก็จะเข้าไปช่วย ตอบสนองในส่วนนี้

คือ นอกเหนือจากการศึกษาปกติ เราก็ยังเข้าไปร่วมกับท้องถิ่นในเรื่องของการพัฒนา SME เพื่อขีดความรู้ความสามารถเพิ่มทักษะ หรือเข้าไปทําเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเข้าไปพัฒนาเรื่องโครงการ “โคราชจีโอพาร์ค” ซึ่งตอนนี้เป็น
Global Geopark และตอนนี้ท่านอธิการบดี มีโครงการจะเข้าไปสร้างแนวทางการศึกษาให้นักศึกษาไปเรียนรู้ในภาคธุรกิจเอกชนอย่างเรื่องรถไฟฟ้า กําลังเป็นเทรนด์นิยมและประหยัดพลังงาน ที่โคราชมีโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าก็จะส่งนักศึกษาเหล่านี้ ไปเรียนในสถานที่จริงร่วมมือกับภาคเอกชนๆ ก็จะประโยชน์ด้วย นักศึกษาก็ได้ประโยชน์ด้วย

ฉะนั้น วันนี้บทบาทของราชภัฏ พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนตอบสนองความต้องการของประเทศ กับท้องถิ่นนอกเหนือจาก
พื้นฐานของการศึกษาทั่วไปด้วย