ผวจ.โคราชยัน 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีก 20-30% ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางน้ำล้นแล้ว 3 แห่ง สั่งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำรับมือน้ำป่าไหลหลากพื้นที่เชิงเขา และลุ่มน้ำลำเชียงไกร

นครราชสีมา – วันนี้ (7 กันยายน 2564) นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ว่า เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่มีปริมาณมาก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้ง 27 แห่ง ของจังหวัดนครราชสีมา เกินกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งมีมากกว่า ร้อยละ 60 ของความจุ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำที่ 214 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66.13 ของความจุ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณอยู่ที่ 100 ล้าน ลบ.ม.จากความจุ 155 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 64.54 ของความจุ อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 99 ล้าน ลบ.ม.จากความจุ 141 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 70.80 ของความจุ และอ่างเก็บน้ำละแซะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 165 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 217 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ยังสามารถรองรับน้ำได้ที่ไหลเข้าเขื่อนได้อีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีพายุ หรือมรสุม เข้ามาในพื้นที่ติดต่อกันหลายลูก เหมือนปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก ในลุ่มน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง ก็อาจะไม่รุนแรง ในส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่ง จากทั้งหมด 23 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำสะสม เกินความจุอ่างแล้วนั้น ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย ซึ่งตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนายอำเภอทุกอำเภอเฝ้าจับตาสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปริมาณน้ำที่ตกลงมาในช่วงนี้ทุกพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่เชิงเขา อ.วังน้ำเขียว อ.ปากช่อง และในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์รับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมทุกอำเภอ และกำชับทุกอำเภอเตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ รถขุดตัก ตลอดจนสั่งการให้มีการเตรียมพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรองรับหากจะต้องมีการอพยพพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเปราะบางช่วยเหลือตัวเองลำบาก หากเกิดน้ำท่วม ดังนั้นในชุมชนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ตลอดในช่วงนี้ นายกอบชัยฯ กล่าว.

/////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา