สุดยอด! ข้าวหอมมะลิระยะเม่า ข้าวอัจฉริยะบำรุงสมอง ผลงานวิจัย ม.ราชภัฏโคราช และ สวก. ทางเลือกทางรอดของชาวนา เพิ่มมูลค่าข้าวไทย

นครราชสีมา-มหาวิทยาลับราชภัฎนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดตัว “ข้าวหอมมะลิระยะเม่า..ข้าวอัจฉริยะบำรุงสมอง” ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พร้อมกับจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ข้าว GIโคราช-ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ นิทรรศการงานวิจัยด้านข้าวจังหวัดนครราชสีมา และงานแสดงสินค้าเกษตร เพื่อสื่อสารการตลาดสร้างการรับรู้และเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคข้าวโดยตรง

โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน)ได้สนับสนุนดำเนินงานวิจัยโครงการ “การผลิตและแปรรูปข้าวระยะเม่า พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (อ่านว่า หนึ่ง-ศูนย์-ห้า) และทับทิมชุมแพ (กข.69) สู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อปี 2561 เพื่อเป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดีและมากที่สุด แก้ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกข้าวเพื่อสุขภาพ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อน

ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ข้าวหอมมะลิระยะเม่า มีปริมาณโฟแลตสูง เบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอะซิน และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จากการทดลองใช้ข้าวหอมมะลิระยะเม่า เพื่อเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตทดแทน ในการป้องกันการเกิดโรคทางเมตาบอลิกในหนูเมาซ์ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า สามารถควบคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี หรือในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด และ โรคความดันฯ รวมถึง ยังมีปริมาณโฟเลตสูงช่วยบำรุงสมอง เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือประชาชนที่ต้องการรักษาสุขภาพทั่วไปได้ ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว ได้นำมาสู่การพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องในระยะที่ 2 ในปี 2563 ในชื่อโครงการ“การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา” เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและควบคุมการเขตกรรมข้าวหอมมะลิระยะเม่า ให้ได้ข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเม่าในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ และสร้างและยกระดับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่า สู่ Smart Farmer (สมาณืท ฟาร์มเมอร์) และ Smart Farming (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) ตลอดห่วงโซ่การผลิต ขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก สู่เป้าการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเป้าหมายลดปริมาณปัจจัยการผลิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และเกิดการกระจายรายได้ของกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจที่ร่วมโครงการ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 240,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดไป

//////////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา