หนุ่มครบุรีทุ่มเงิน 10 ล้าน เปิดล้งทุเรียนแห่งแรกของโคราช รับซื้อทุเรียนโคราชส่งโกอินเตอร์ ตั้งเป้าปีแรก 100 ล้าน

นครราชสีมา – เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี พร้อมด้วย นายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอ  เป็นประธานในพิธีเปิดล้งรับซื้อทุเรียนแห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมา ที่โรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออก ( ล้งทุเรียน ) ของบริษัท เกษตรก้าวกล้า เทรดดิ้ง จำกัด เลขที่ 80 หมู่ที่ 8 ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา  โดยโรงคัดบรรจุผลไม้จุดนี้ ถือเป็นจุดรับซื้อและคัดทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม เพื่อส่งจำหน่ายให้กับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยจะเน้นการรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นส่วนใหญ่  โดยในราคารับซื้อที่เป็นธรรมกับเกษตรกร  อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการจำหน่าย ลดภาระต้นทุนค่าขนส่งผลผลิตของเกษตรกร  ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  โดยโรงคัดบรรจุทุเรียนแห่งนี้ลงทุนไปกว่า 10 ล้านบาทและ ตั้งเป้าจะรับซื้อทุเรียนและส่งไปจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในปีแรกมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท  ซึ่งในวันนี้เป็นวันเปิดฤกษ์ปิดตู้ส่งทุเรียนล๊อตแรกไปประเทศจีนจำนวน 18 ตัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท

นายพงศธร ตรีเพิ่มทรัพย์ อายุ 30 ปี ผู้ประกอบและเจ้าของกิการโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออก หรือล้งทุเรียน บริษัท เกษตรก้าวกล้า เทรดดิ้ง จำกัด  เปิดเผยว่า  แนวคิดของการเปิดกิจการล้งทุเรียนที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นว่าพื้นที่การปลูกทุเรียนที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีทุเรียนใกล้เคียงกับทางจังหวัดจันทบุรีในอนาคต  แต่คู่แข่งทางการค้านั้นมีเพียง 5 รายเท่านั้น  ดังนั้นในเมื่อเรามีพื้นที่เพาะปลูก มีช่องตลาด  พร้อมอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ลองเปิดกิจการนี้ขึ้น   ประกอบกับคุณภาพทุเรียนของอำเภอครบุรี รวมถึงทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่โดดเด่น กลิ่นไม่ฉุด เนื้อละเอียด เส้นใยน้อย รสชาติดี   จึงทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าราคาสินค้าให้มากขึ้นได้  เป็นที่สนใจของตลาด  และสามารถหาคู่ค้าได้ไม่ยาก   โดยตอนนี้ทางล้งเปิดรับซื้อทุเรียนทุกเกรด รวมถึงหากเกษตรกรรายใด เกิดปัญหาหนอนแมลงกัดกินทุเรียน ก็สามารถนำมาจำหน่ายได้ เพราะทางล้งจะมีการแปรรูปทะเรียนเพื่อนำไปจำหน่ายอีกรูปแบบด้วย

สำหรับตลาดที่ตั้งเป้าไว้ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศจีน  ส่วนในประเทศจะเป็นตลาดที่เชียงใหม่ กรุงเทพ และภูเก็ต เป็นต้น  ส่วนออเดอร์ก็เริ่มที่จะเข้ามาบ้างแล้ว ประมาณ 7 – 8 ตู้ต่อเดือน ซึ่งหากเป็นเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา และมีใบรับรองคุณภาพสินค้า หรือ GAP ก็จะได้รับราคาเพิ่มจากราคาปกติ ที่จะรับซื้อแบบคัดเกรด เริ่มตั้งแต่กิโลกรัมละ 40 บาท ไปจนถึง 140 บาท   โดยตั้งเป้าในการส่งจำหน่ายในปีแรกประมาณ 40 ตู้ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

 ทางด้านนายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี กล่าวว่า การเปิดล้งทุเรียนครั้งแรกของจังหวัดนครราชสีมา ที่อำเภอครบุรี ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก เพราะจะได้มีตลาดใกล้บ้าน ให้ราคาดี และสามารถลดต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้มีรายได้จากการขายทุเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันมาตรฐานของล้งรับซื้อก็จะเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้คุณภาพทุเรียนของพื้นที่เป็นที่รู้จักไปไกลทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

 ขณะที่นายธวัชชัย ผิวแดง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนตำบลสระว่านพระยา อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา บอกว่า การที่มีล้งทุเรียนเกิดขึ้นในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง เพราะสามารถลดภาระค่าขนส่งลงได้อย่างมาก อีกทั้งเกษตรกรยังได้ราคาดี เพราะมีการติดต่อผ่านทางล้งโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันการบริการของทางล้งก็ดีมีมาตรฐานอย่างมาก  

 สำหรับพื้นที่อำเภอครบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ไร่ กระจายอยู่ทั้งสิ้น 10 ตำบล ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 1,350 ไร่ ผลผลิตประมาณ 742 ตัน สร้างรายได้กระจายในพื้นที่กว่า  112 ล้านบาท/ปี พื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ที่ตำบลลำเพียก ประมาณ 800 ไร่ รองลงมาคือตำบลสระว่านพระยา  ประมาณ 250 ไร่ ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 130-150 บาท เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอครบุรีที่ให้ผลลิตแล้วมีการขอรับรองมาตรฐาน GAP  ซึ่งได้ดำเนินการตรวจประเมินแปลงไปแล้วในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ทั้งจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 5,000 ไร่ ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 2,000 ไร่ จำนวนผลผลิตประมาณ 1,250 ตันต่อปี.

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา