อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดวิทยาลัยครูเบาหวานแห่งแรกที่โคราช   หลังผู้ป่วยหวานในพื้นที่ลดลง  บางรายไม่ต้องกินยา

 นครราชสีมา-วันนี้ ( 10 สิงหาคม 2566 )  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มาเป็นประธานเปิดป้ายวิทยาลัยครูเบาหวานอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรมควบคุมโรค , เขตสุขภาพที่ 9 , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ,โรงพยาบาลพิมาย และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพิมาย และหน่วยงานภาคี ได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา , คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพิมาย , ข้าราชการบำนาญกระทรวงธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ , ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด , สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิมาย ,โรงพยาบาลพิมาย , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง , ชมรม อสม.อำเภอพิมาย , ชมรมผู้สูงอายุอำเภอพิมาย , คณะกรรมการ พชอ. ผุ้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนเบาหวาน-โรงเรียนอนุบาลเบาหวาน และผู้ที่สนใจ  เข้าร่วมงานในครั้งนี้

 ซึ่งนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดตั้งวิทยาลัยครูเบาหวานอำเภอพิมายขึ้น เพื่อต้องการให้เป็น Training center  ศูนย์ฝึกอบรมในเรื่องภาวะเบาหวานสงบ หรือ  Diabetes Remission ระดับประเทศต่อไปในอนาคต โดยมีนายแพทย์ชัชวาล  ลีลาเจริญพร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย และเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. มาให้การสนับสนุนด้านวิชาการและองค์ความรู้ในหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่ง พชอ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านกระบวนการโรงเรียนเบาหวานวิทยา โดยปีงบประมาณ 2564 ได้เปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา กระจายไปทุกพื้นที่จำนวน 21 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 800 คน  เมื่อประเมินผล พบว่า มีนักเรียนโรงเรียนเบาหวานที่เบาหวานสงบและหยุดยาเบาหวาน จำนวน 31 คน , หยุดยาเบาหวาน 47 คน , งดยาเบาหวานบางตัวจำนวน 39 คน และลดปริมาณยาเบาหวาน จำนวน  68 คน ต่อมาในปีงบประมาณ 2565 นักเรียนโรงเรียนเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานสงบ ยังสามารถคงสถานการณ์เบาหวานสงบได้สูงถึงร้อยละ 83 และระดับค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด Hemoglobin A1c (ฮีโมโกลบินเอวันซี) หรือ HbA1c  น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5.7 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับคนปกติ ถึงร้อยละ 30

 จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จึงเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า การดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของอำเภอพิมาย สามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายพื้นที่ได้ และเมื่อมาศึกษาดูงานของอำเภอต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 9  เยี่ยมชมการดำเนินงานของเลขาธิการ สปสช. , คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพิมาย และคณะทำงานอื่นๆ ที่มีความต้องการที่จะพัฒนาและสร้างหลักสูตรแกนกลางในการเรียนการสอนของโรงเรียนเบาหวาน และโรงเรียนอนุบาลเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้จริง และมีลำดับขั้นตอนการติดตามวัดผลที่ชัดเจน จึงจัดตั้งวิทยาลัยครูเบาหวานอำเภอพิมายขึ้นในครั้งนี้ ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อไปทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างถูกต้อง  และสามารถลดการใช้ยารักษาเบาหวานลงได้ .

////////////////