โคราชยังไม่พ้นวิกฤติ ! หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง  ชาวบ้านหวั่นพายุลูกใหม่มาซ้ำเติม ขณะที่ ศูนย์ ปภ. เขต 5 จับมือท้องถิ่น เร่งสูบน้ำไปกักเก็บใช้ช่วงฤดูแล้ง

 นครราชสีมา-วันนี้ (11 ตุลาคม 2564)  ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์อุทกภัยภาพรวมของจังหวัดฯ ล่าสุด ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 – 27 กันยายน 2564 จังหวัดนครราชสีมาได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน และจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่  มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 24 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด สูงเนิน โนนสูง ปักธงชัย โนนไทย วังน้ำเขียว ครบุรี พิมาย โชคชัย เมืองนครราชสีมา เสิงสาง เทพารักษ์ คง พระทองคำ จักราช สีดา ขามสะแกแสง บ้านเหลื่อม แก้งสนามนาง โนนแดง เฉลิมพระเกียรติ ชุมพวง เมืองยาง และอำเภอประทาย  จำนวน 102 ตำบล 402 หมู่บ้าน 21 ชุมชน ประชาชนประสบภัย รวม 16,235 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ในอำเภอด่านขุนทด   อำเภอโนนสูง อำเภอสูงเนิน  และอำเภอพิมาย   ในขณะที่โรงเรียน 7 แห่ง  วัด 12 แห่ง  ถนน 152 สาย สะพาน 5 แห่ง ท่อระบายน้ำ 4 จุด รับความเสียหาย         

 

ทั้งนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด วังน้ำเขียว ครบุรี โชคชัย เสิงสาง เทพารักษ์           พระทองคำ สีดา ขามสะแกแสง บ้านเหลื่อม สูงเนิน ปักธงชัย เมืองนครราชสีมา โนนแดง โนนไทย และอำเภอจักราช  รวมจำนวน  74 ตำบล 245 หมู่บ้าน 20 ชุมชน   ในขณะที่  8 อำเภอ ยังคงมีสถานการณ์ ได้แก่ อำเภอโนนสูง  คง  แก้งสนามนาง  เฉลิมพระเกียรติ  พิมาย   ชุมพวง  เมืองยาง และอำเภอประทาย   รวม 28 ตำบล 157 หมู่บ้าน 1 ชุมชน 1,048 ครัวเรือน ได้รับกระทบ และมีประชาชนอพยพ 16 ราย

 

ซึ่งอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานลักษณะอากาศประจำวัน ว่า  มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่พายุดีเปรสชัน “ไลออนร็อก” ปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน คาดว่า จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป  ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดมุกดาหาร  สำหรับ พายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ พายุนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย  ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เพิ่งประสบอุทกภัยไปหมาดๆ ต่างรู้สึกกังวลและหวั่นพายุลูกใหม่ จะมาซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมให้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น ส่วนหลายพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายหรือลดลงแล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา ควบคู่ไปกับการพร่องน้ำ  ผลักดันน้ำลงสู่ลำน้ำธรรมชาติให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำก้อนใหม่ที่จะเข้ามาจากผลกระทบพายุลูกต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึง ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยล่าสุด  ศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา  ได้ร่วมกับองการบริหารส่วนตำบลเสมาใหญ่ อำเภอบัวใหญ่  สนับสนุนเจ้าหน้าที่ฯ พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ชุดรถสูบส่งน้ำระยะไกล 10 กิโลเมตร ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางสายส่งน้ำ ความยาวประมาณ 2,750 เมตร เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยวังชมพู ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ ซึ่งมีมวลน้ำจำนวนมากไหลผ่าน เนื่องจากการเกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ ส่งไปเก็บกักไว้ในสระเก็บน้ำผลิตน้ำประปาหนองตาสุด บ้านหนองแจ้งน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลเสมาใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ ที่ประสบปัญหาแหล่งเก็บน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปามีน้ำน้อย เพราะฝนไม่ตกในพื้นที่เป็นเวลานาน  ชาวบ้าน 2 หมู่บ้านคือ บ้านหนองแจ้งน้อย หมู่ที่ 5 และบ้านแจ้งสว่าง หมู่ที่ 11 รวม 220 ครอบครัว 965 คน จะได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค  ส่วนราชการ 2 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเสมาใหญ่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแจ้งน้อย  รวมถึง วัด 2 แห่งคือ วัดบ้านหนองแจ้งน้อย และวัดบ้านแจ้งสว่าง จะได้มีน้ำใช้ ซึ่งจะสูบน้ำกักเก็บไว้ จำนวน 130,000 ลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่า จะเพียงพอให้บริการในช่วงฤดูแล้งปี 2565

//ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา