โคราชเผย มี ปชช.เครียดจากโควิด-19 ร้อยละ 13.68 ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสม ยังคงที่ 19 ราย

นครราชสีมา – วันนี้ (29 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และนายแพทย์สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันรวมทั้งการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีการคัดกรองประชาชน (ยอดสะสม ณ วันที่ 3 ม.ค. – 29 เม.ย. 2563) จํานวนทั้งหมด 87,452 คน พบว่ามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อ จํานวน 780 ราย ไม่พบเชื้อ จํานวน 759 ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จํานวน 2 ราย พบผู้ป่วยยืนยันโรค COMD – 19 จํานวน 19 ราย โดยผู้สัมผัสที่เสี่ยงสูง ของเคสผู้ป่วยรายที่ 19 ของโคราช ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ มีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว จํานวน 13 ราย กลับบ้านได้แล้ว รวมจํานวน 12 ราย กักตัวต่อที่โรงแรมปัญจดารา 1 ราย ยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล จํานวน 6 ราย (ที่ รพ.มหาราช 3, รพ.สูงเนิน 1, รพ.โชคชัย 2 ราย) ผู้ป่วยทั้ง 6 ราย มีอาการที่ดี ไม่มีไข้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยอดกักตัวสะสมจำนวน 168 ราย กักตัวครบจำนวน 113 ราย มีผู้อยู่ในสถานที่กักตัวปัจจุบัน จำนวน 55 ราย ได้แก่ โรงแรมปัญจดารา จำนวน 12 ราย รพ.เทพรัตน์ฯ จำนวน 1 ราย, รพ.ปากช่อง จำนวน 2 ราย และกักตนเองที่บ้าน จำนวน 40 ราย

โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ขณะนี้ทางจังหวัดได้รอมาตรการแนวทางปฏิบัติจากทาง ศบค. เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการแจกข้าวสารอาหารแห้งแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น ประชาชนสามารถโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือและลงทะเบียน ได้ที่สายด่วน 1567 กรณีหากท่านที่ลงทะเบียนไว้กับ 1567 แล้ว และสามารถมารับถุงยังชีพได้ด้วยตนเอง ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหากเครียดขอให้โทรปรึกษา 1323 สายด่วนสุขภาพจิต ทั้งนี้รายงานจากสำนักงานสาธารณสุข ที่ผ่านมาพบมีประชาชนชาวโคราชเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ร้อยละ 13.68 จึงขอฝากแนวทางการดูแลจิตใจในชุมชน 4 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างชุมชนให้รู้สึกปลอดภัย ร่วมมือ ร่วมใจ ปฏิบัติตามนโยบาย ห่างกาย ไม่ห่างใจ 2.สร้างชุมชนให้มีความสุข พูดคุย สื่อสารใส่ใจ รับฟังความรู้สึก 3.สร้างชุมชนให้มีความหวัง ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันในชุมชน และ 4.สร้างชุมชนที่เข้าใจและให้โอกาส ให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในที่สุด.

////////////