โคราช หนุนเปลี่ยนผ่านโควิดสู่โรคประจำถิ่น เดินหน้ารักษาเคสสีเขียวแบบคนไข้นอก เจอ แจก จบ
นครราชสีมา-หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิด 19 ออกจากการเป็นโรคระบาด ไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่น และมีนโยบายให้เพิ่มการดูแลระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แบบ“เจอ แจก จบ” โดยทำการตรวจผู้ที่สงสัยป่วยโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการนั้น วันนี้ (1 มีนาคม 2565) นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้เผยถึงความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ว่า ได้รับทราบแนวนโยบายจากนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้ว และวันนี้ทางจังหวัดฯ จะมีการประชุมใหญ่ประจำเดือนสถานพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งจะได้นำแนวนโยบายดังกล่าวมาชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้สถานพยาบาลทุกแห่งวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมดำเนินการตามนโยบายได้ทันที ส่วนแนวทางการรักษาจะให้ประเมินตามอาการ หลังจากตรวจผู้ที่สงสัยป่วยโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK พบผลเป็นบวกแล้ว แพทย์จะพิจารณาอาการว่า ควรเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเคสสีขียว มีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ ก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD Case ) จ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1. ยาฟาวิพิราเวียร์ 2. ยาฟ้าทะลายโจร 3. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก เป็นต้น ซึ่งผู้ติดเชื้อต้องไปรักษาตามสิทธิสุขภาพที่มีอยู่ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อให้สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่ายขึ้น และปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนเกินกว่า 90 % ส่วนใหญ่จะเป็นเคสสีเขียวอาการไม่รุนแรง จึงสามารถดูแลตัวเองรักษาตามอาการที่บ้านได้ แต่ต้องแยกกักตัวเองแบบ HI เป็นเวลา 10 วัน ส่วนกลุ่มที่ไม่พร้อมแยกกักรักษาที่บ้าน ก็สามารถเข้าสถานแยกกักชุมชน CI ได้ ถือเป็นการเชื่อมโยงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
///////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา