23 มีนาคม วันฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี

ความเป็นมา งานย่าโม

ในทุกปีทางจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนชาวนครราชสีมา ได้ร่วมกันจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) หรือ งานย่าโม เป็นงานประจำปีของจังหวัด โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของย่าโม เพื่อเป็นการเคารพสักการะ เชิดชูเกียรติ ในวีรกรรมของท้าวสุรนารี และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา งานจัดขึ้นบริเวณถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล ตั้งแต่ลานย่าโม ไปถึงถนนมหาดไทย รวมถึงบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีกิจกรรมการบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พิธีจุดพลุสี่มุมเมือง ซึ่งมีการเริ่มต้นครั้งแรก นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการและเอกชน รวมทั้งกิจกรรมบันเทิง ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน
ความสำคัญ
งานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี หรือ งานย่าโม เป็นงานประจำปีของจังหวัดซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๓ มีนาคม – ๓ เมษายน ของทุกปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ได้รับชัยชนะจากข้าศึก เพราะวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ คือวันที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมา จึงเป็นงานประเพณีทำให้ระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น
นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆและสินค้าท้องถิ่นจากอำเภอต่างๆในจังหวัดนครราชสีมา การจัดนิทรรศการของหน่วยราชการและภาคเอกชน รวมทั้งกิจกรรมบันเทิงที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน
(ในสมัยก่อนมี หนังกลางแปลง ลิเก วงดนตรีคอนเสิร์ต บ้านผีสิง เมียงู ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไต่ถัง ยิงเป้า การเล่นเกมส์ชิงรางวัลต่างๆ)
พิธีกรรมที่จัดขึ้นในงามที่จัดขึ้นในงานของท้าวสุรนารี เริ่มต้นครั้งแรกใน ปี พุทธศักราช ๒๔๗๗ มีการบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พิธีจุดพลุสี่มุมเมือง นอกจากนี้ในอดีตเคยมีการจัดการแสดงละครเรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารี ให้เป็นกิจกรรมหลักของงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น
กิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พลเมือง เป็นแบบอย่างให้กับพลเมืองได้ตระหนักถึงบุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคล

คาถาบูชาย่าโม และวิธีไหว้ขอพรย่าโม

คาถาบูชาย่าโมแบบที่ 1

ตั้ง นะโม 3 จบ

พุทธังโหม ธัมมังโหม สังฆังล้อม

อันตรายา วินาศสันติ นะโมพุทธายะ

พุทธังโหม ธัมมังโหม สังฆังล้อม

อันตรายา วินาศสันติ นะโมพุทธายะ

………………………………………………

คาถาบูชาย่าโมแบบที่ 2

ตั้ง นะโม 3 จบ

โอมพรัมมะ พรัมมะ นะโมมะ
นะโม ธัมโม ธัมโมนะ นะมะ
มะอาท้าวสุรนารี โมโมนะ
(สวด 3 จบ)

………………………………………………

คาถาบูชาย่าโมแบบที่ 3

ตั้ง นะโม 3 จบ

พุทธังโหม ธัมมังโหม สังฆังล้อม
อันตรายาวินาศสันติ

(สวด 3 จบ)

………………………………………………

ของไหว้ย่าโมที่นิยมนำมากราบไหว้

1.ผลไม้

2.ดอกไม้

3.หมากพลู

4.ผ้าแพร 7 สี

5. ทองคำเปลว

6. ธูปเทียน

เคล็ดการไหว้ขอพรจากย่าโม

  • หากปรารถนาสิ่งใด ให้ตั้งจิตแน่วแน่ ขอในสิ่งที่ไม่ผิดศีลธรรม และให้กล่าวว่าขอพร ไม่ควรใช้คำว่าบนตรงๆ
  • เชื่อกันว่าย่าโมท่านโปรดปราน “เพลงโคราช” ซึ่งเป็นเพลงพื้นเมืองที่ใช้ภาษาไทยโคราช มีท่วงทำนองการขับร้องที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถติดต่อว่าจ้างพ่อเพลงแม่เพลงได้ที่บริเวณศาลาไม้ใกล้ๆกับอนุเสาวรีย์
  • ควรเดินลอดประตูชุมพล ที่อยู่ด้านหลังอนุเสาวรีย์ เพราะเชื่อกันว่าลอดแล้วจะได้กลับมาที่เมืองโคราชอีก เป็นเคล็ดว่าพรของเราจะสมหวัง ได้กลับมาไหว้ย่าโมอีก โดยเชื่อกันว่า ลอด 1 ครั้ง จะได้กลับมาเยือนโคราชอีก ลอด 2 ครั้ง จะได้มาทำงานที่โคราช และลอด 3 ครั้ง จะได้มีคู่ครองเป็นคนโคราช
  • หลายคนเชื่อกันว่าควรมาขอพรและตำหมากสดถวายย่าโมวันพุธช่วง 3 ทุ่มเป็นต้นไป ตามกระแสจากรายการหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วสามารถมากราบไหว้ขอพรท่านในเวลาอื่นๆ ได้เช่นกัน
  • สามารถขอพรท่านได้ตามปรารถนา เช่น การงาน การเงิน ขอบุตร แต่ไม่ควรเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม
  • เชื่อกันว่าไม่ควรขอพรเรื่องไม่ให้ติดทหาร เพราะจะไม่สมหวัง


และที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว เพราะเป็นการเร่งผลให้เราได้สมหวังได้เร็วยิ่งขึ้น มากกว่าการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว และเมื่อสมหวังแล้วก็ต้อง “รักษาสัจจะ” ทำตามที่ได้ขอพรไว้ไม่ผัดวันประกันพรุ่งหรือละเลยด้วยนะคะ จึงจะเกิดสิริมงคลกับตัวเราต่อเนื่องตลอดไปค่ะ