นับเป็นเวลาถึง 17 ปีมาแล้ว ที่วันที่ 8 สิงหาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันแมวโลก” (International Cat Day หรือ World Cat Day) เพื่อให้เหล่ามนุษย์ทั้งที่เป็นทาสแมวและไม่ใช่ทาสแมว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเจ้าเหมียวที่เป็นทั้งเพื่อนคู่ใจและผู้ช่วยกำจัดหนูมาแต่โบราณกาล

ทาสแมวหลายคนยอมรับว่าแมวนั้นเป็นสัตว์ที่เดาใจได้ยาก บางทียอมให้ลูบหัวลูบหางอยู่ดี ๆ แต่อีกประเดี๋ยวหนึ่งกลับแว้งมากัดข่วนเอาเสียอย่างนั้น ในทางวิทยาศาสตร์แล้วปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากนิสัยเจ้าอารมณ์เอาแต่ใจของแมว แต่เชื่อว่ามาจากการที่คนเราสัมผัสจับต้องตัวมันอย่างไม่ถูกวิธีมากกว่า

ดร. ลอเรน ฟินกา นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมเทรนต์ (NTU) ของสหราชอาณาจักร ได้เผยถึงวิธีเล่นกับแมวที่สอดคล้องกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของมัน ในบทความซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ไว้ดังนี้

แมวบ้านยังไม่สิ้นลายแมวป่า

ดร. ฟินกาอธิบายว่า อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของแมว รวมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่างคนและแมวเสียก่อน

แมวบ้านรุ่นแรก ๆ ที่สืบเชื้อสายมาจากแมวป่าแอฟริกัน อาจถูกมนุษย์มองเป็นเพียงเครื่องมือกำจัดหนูเท่านั้น และทั้งสองฝ่ายไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากนัก แต่มุมมองแบบนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อราว 4,000 ปีก่อน โดยมนุษย์มีความสัมพันธ์ทางสังคมและสื่อสารกับแมวเพิ่มขึ้น เริ่มมองว่าแมวเป็นเหมือนตุ๊กตาขนฟูน่ารัก มีความต้องการจะหยอกล้อเล่นด้วยและใช้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อนันทนาการ

ดร. ฟินกาบอกว่า “ช่วงเวลาเพียงไม่กี่พันปีนั้นนับว่าสั้นมาก สำหรับการที่แมวป่าจะปรับตัวเองให้กลายเป็นแมวบ้าน ซึ่งจะต้องตอบสนองพฤติกรรมมนุษย์ได้ทุกอย่าง”

“ตามปกติแล้วแมวป่าสื่อสารกันโดยทิ้งร่องรอยหรือกลิ่นเอาไว้ พวกมันหลีกเลี่ยงที่จะเจอตัวกันโดยตรง แต่การเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ในยุคใหม่เรียกร้องให้แมวยินยอมเผยตัว รวมทั้งต้องเผชิญกับการสัมผัสจับต้องอย่างใกล้ชิดบ่อย ๆ ซึ่งอาจจะมากเกินไปสำหรับแมวที่สมองยังคงมีสัญชาติญาณสัตว์ป่าอยู่”

เหมียวว่าง่ายอาจเป็นแมวเครียดไร้ความสุข

การที่แมวจะยอมให้คนอุ้มกอดหรือสัมผัสตัวได้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่นโอกาสการเรียนรู้ของลูกแมวในช่วงอายุสำคัญระหว่าง 2-7 สัปดาห์ รวมทั้งเพศ, บุคลิก, และวิธีจับต้องของคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับแมว อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแมวก็เปิดรับการสัมผัสจากคนได้ไม่เท่ากัน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแมวที่เชื่องและว่านอนสอนง่าย ยอมให้คนจับตัวได้โดยดีนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย แต่กรณีเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าแมวจะมีความสุขจากการถูกสัมผัสลูบคลำ เหมือนกับคนที่รู้สึกผ่อนคลายจากการนวดเสมอไป มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า แมวที่ถูกฝึกให้เชื่องโดยได้อาหารและที่อยู่เป็นรางวัลนั้น จะมีระดับความเครียดสูงกว่าแมวที่ต่อสู้ไม่ยอมให้คนจับตัวเสียอีก

สัมผัสน้องแมวอย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์

ดูเหมือนว่าการตรงเข้าไปฟัดแมวด้วยอารมณ์หมั่นเขี้ยวตามใจมนุษย์นั้นจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ทาสแมวที่ต้องการให้น้องเหมียวเล่นด้วยโดยไม่แว้งกัดหรือข่วนทีเผลอจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง ไม่บีบบังคับและเปิดให้แมวมีทางเลือกมากที่สุดในระหว่างที่มีปฏิสัมพันธ์ในช่วงสั้น ๆ ผลการวิจัยหนึ่งชี้ว่า มีโอกาสน้อยมากที่แมวจะยอมเล่นด้วยหรือยอมให้สัมผัสตัวนาน ๆ หากแมวไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มเข้าหาก่อน

ไม่ควรจับต้องตัวแมวมากจุดหรือนานจนเกินไป แต่อาจเลือกสัมผัสบริเวณที่แมวส่วนใหญ่ชื่นชอบเช่นส่วนฐานของใบหู, ใต้คาง หรือแก้ม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมกลิ่นของแมวอยู่ การสัมผัสบริเวณนี้จะปลอดภัยกว่าไปแตะต้องส่วนท้อง หลัง หรือที่โคนหาง

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาของแมวอยู่ตลอดเวลาว่ามันรู้สึกพอใจหรือเครียดกับสัมผัสจากเรากันแน่ สัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องเหมียวอารมณ์ดีได้แก่การที่หางตั้งตรง, เป็นฝ่ายเข้าหาหรือสัมผัสคนก่อน, ส่งเสียงกรนครืดคราดหรือใช้เท้านวดตัวคน, อยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสะบัดหางไปมาช้า ๆ, หูตั้งงอมาด้านหน้าเล็กน้อย

หากแมวอารมณ์ไม่ดีและต่อต้านการสัมผัสจากมนุษย์ สัญญาณที่จะสังเกตได้คือการหันหัวหนีไปทางอื่น, นิ่งเฉยไม่ตอบสนองการสัมผัส, กะพริบตาถี่, สะบัดหัวหรือตัว, กระตุกหรือเกร็งกล้ามเนื้อที่ต้นคอและหลัง, เลียจมูกหรือเลียตัวอย่างแรงและเร็ว, สะบัดหางฟาดรุนแรง ,หูลู่ไปด้านหลัง

หากน้องเหมียวหมดความอดทน ไม่อาจยอมรับความรักอันน่ารำคาญของเหล่าทาสได้อีกต่อไป การหันมาใช้เขี้ยวกัดมือและใช้กรงเล็บตบเอามือแสนซนของมนุษย์ออกไปให้พ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน