รัฐบาล เผย ประเทศไทย สามารถวิจัย “ยาฟาวิพิราเวียร์” ได้สำเร็จ อย.จ่อขึ้นทะเบียนตำรับยา หวัง ลดนำเข้า และ ส่งออกขายไปยังต่างประเทศได้
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตาม ความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศ สำหรับต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circula-Green Economy) ของรัฐบาล โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บริษัท ปตท.
เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย โดยความร่วมมือดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูกโดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการนำเข้ามากถึงร้อยละ 95
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทางองค์การเภสัชกรรมคาดว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้ผู้ป่วย โควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สวทช. อภ. และ บริษัท ปตท. ด้วยว่า ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์
จึงถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลความร่วมมือ รัฐ-เอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยนักวิจัยไทยก็มีความก้าวหน้าไปมากเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ระยะยาวนำไปสู่การลดการนำเข้า และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งบุคคลากรมีทั้งความรู้และนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตขายต่อไปด้วย