“คณะแพทย์รามาฯ” ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากผู้ป่วย”โควิด-19″ รักษา”ธาลัสซีเมีย” เคสแรกของโลกสำเร็จ
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมด้วย คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความสำเร็จ ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลก ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากน้องจีโอ้-เด็กชายศิลา บุญกล่อมจิตร ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ในฐานะผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษาน้องจีน-เด็กหญิงจินตนาการ บุญกล่อมจิตร พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด ตอกย้ำความเป็นเลิศทางการแพทย์ และก้าวสำคัญของรามาธิบดี
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับการรักษาน้องจีน ซึ่งถือว่าเป็นเคสพิเศษเพราะได้ทำการรักษาในช่วงโควิด-19 ซึ่งแผนการดำเนินการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อยู่ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดโควิด ดังนั้นการทำงานของคณะแพทย์จะต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกาย ด้วยการรับเคมีบำบัดหรือคีโมจนครบเรียบร้อยในวันที่ 7 เมษายน ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น เคสนี้จึงมีความท้าทายและซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะในขณะเดียวกัน ในวันที่จะต้องเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องอยู่ในฐานะผู้ป่วยอีกคน ทั้งสองคนยังอายุน้อยด้วยกันทั้งคู่ ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจึงมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสเต็มเซลล์ที่ได้จะมีเชื้อโควิด-19 รวมถึงขั้นตอนการปลูกถ่ายที่ทีมแพทย์ต้องรับมือกับความเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
ด้าน รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ แพทย์ผู้ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม โดยประชากรไทยมีพาหะของโรคหรือสามารถเพาะโรคได้ประมาณร้อยละ 40 และมีผู้ป่วยโรคนี้ถึงขั้นรุนแรงและต้องรักษาเพิ่มเติมประมาณ 1 แสนราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของบุคคลอื่น โดยทั้งผู้ให้และผู้รับต้องมีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อโดยสมบูรณ์ 100% สำหรับเคสน้องจีน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการตัดต่อยีนส์ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้จึงเป็นความหวังเดียว
รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ กล่าวต่อว่า แต่ก่อนเก็บสเต็มเซลล์ได้มีการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากประวัติก็พบว่าไม่มีความเสี่ยง แต่เมื่อตรวจด้วยวิธี RT-PCR ผลออกมาเป็นบวก และวันต่อมาก็ต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้น้องจีน ซึ่งได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงไปแล้วนั้น อาจจะทำให้เกิดภาวะไขกระดูกฝ่อ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อ จึงได้มีการประชุมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลทันทีกว่า 4 ชั่วโมง ก็มีมติคือต้องดำเนินการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากน้องจีโอ้ไปยังน้องจีนตามแผน แต่น้องจีโอ้จะต้องถูกย้ายตัวไปกักโรคและรักษายัง โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อถึงยังโรงพยาบาลทีมแพทย์ก็ต้องสวมชุด PPE ในการดำเนินการผ่าตัดเจาะไขกระดูก ประมาณกว่า 1 ชั่วโมง และนำกลับมาตรวจอีกครั้ง เพราะคนไข้ที่เป็นโควิด-19 จะติดเชื้อในกระแสเลือดร้อยละ 10 ซึ่งผลออกมาพบว่าไขกระดูกไม่มีการติดเชื้อทำให้การรักษาปลูกถ่ายให้น้องจีนยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีง่ายขึ้น จากนั้นก็ตรวจเช็คเป็นระยะกว่า 10 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ จึงไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่เราสามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย แต่นี่ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย
ในส่วนของครอบครัวน้องจีน-น้องจีโอ้ นายสุชาย บุญกล่อมจิตร ผู้เป็นพ่อ เล่าว่า น้องจีนมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ ที่ผ่านมาน้องจีนเข้ารับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาโดยตลอด จนปลายปี 2561 ครอบครัวได้รับข่าวดี ว่าผลการตรวจเนื้อเยื่อของน้องจีนและน้องจีโอ้เข้ากันได้ ครอบครัวจึงตัดสินใจให้น้องจีนเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างไม่ลังเล โดยน้องจีนได้รับคิวผ่าตัดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในเวลานั้นก็ได้ทราบน้องจีโอ้ติดเชื้อโควิด-19 และภรรยาเองก็ติดเชื้อไปด้วย ทุกคนจำเป็นต้องแยกจากกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งทีมแพทย์ก็ได้เข้ามาพูดคุยและให้ความเชื่อมั่นว่าการผ่าตัดมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากกว่า ทำให้ความหวังที่รอคอยมานานเป็นจริง ซึ่งในตอนนี้น้องจีโอ้ ภรรยาก็หายป่วยจากโควิด และน้องจีนก็อยู่ในช่วงการฟื้นฟู ทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ และเล่นด้วยกัน