“แอร์เอเชีย กรุ๊ป” สายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศลดพนักงานลงประมาณ 30% เตรียมพิจารณาขายหุ้น 10% ระดมเงินสด
แอร์เอเชีย กรุ๊ป สายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศลดพนักงานประมาณ 30% และโทนี เฟอร์นันเดส ผู้ก่อตั้งสายการบินกำลังพิจารณาขายหุ้น 10% ในสายการบินเพื่อระดมเงินสด
นอกจากนี้ แอร์เอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการบินจะปรับลดเงินเดือนของพนักงานที่เหลือประมาณ 75% เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกอบกู้สายการบิน
ภายใต้แผนลดพนักงานของแอร์เอเชียครั้งนี้ ครอบคลุมการลดจำนวนลูกเรือและกัปตันในสัดส่วน 60% ของสายการบินและแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินในเครือที่บินระยะกลาง โดยสายการบินแอร์เอเชียให้บริการเที่ยวบินในประเทศต่างๆ ทั้งมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย และฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม พนักงานทั้งหมดของบริษัทจำนวนเกือบ 20,000 คน ถูกประเมินผลการทำงานใหม่อีกครั้งเป็นการส่วนตัวตั้งแต่เดือน ม.ค. โดยอิงฐานเงินเดือนและผลการทำงาน โดยคาดว่าการเลย์ออฟของสายการบินจะดำเนินต่อไปจนถึงปลายเดือน ก.ค.
ขณะที่แหล่งข่าววงในหลายคนพูดตรงกันว่า เฟอร์นานเดส ซึ่งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสายการบิน อาจจะขายหุ้น 10% ที่ถืออยู่ในบริษัทเพื่อระดมเงินสด และมีรายงานว่า บริษัทเอสเค คอร์ป ของเกาหลีใต้ เป็นแกนนำบริษัทสามแห่งแสดงความสนใจเข้าซื้อหุ้นในสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย ที่รายงานว่า กลุ่มบริษัทเอสเค กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สุดอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ อาจจะเข้าซื้อหุ้นในแอร์เอเชียในวงเงิน 78.4 ล้านดอลลาร์
เอสเค คอร์ป ซึ่งถือหุ้นข้างมากในบริษัท 95 แห่ง ทั้งบริษัทพลังงานและบริษัทโทรคมนาคม มีรายได้เมื่อปีที่แล้ว 213.6 พันล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์โดยรวมอยู่ที่ 257.9 พันล้านดอลลาร์
แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับนิกเคอิว่า แผนการลดพนักงานของแอร์เอเชียต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดบริหาร และคาดว่าจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในสัปดาห์หน้า
ที่ผ่านมา เฟอร์นันเดส แถลงถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็นความท้าทายที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสายการบินมาเกือบ 20 ปี แต่สายการบินแอร์เอเชียจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้อยู่รอดและกลับมาโลดแล่นบนท้องฟ้าอีกครั้ง
เฟอร์นันเดส ยอมรับว่า อุตสาหกรรมการบินทั้งในเอเชีย และทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสายการบินแอร์เอเชียที่เผชิญกับแรงกดดันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายอย่างที่สุดเท่าที่บริษัทเคยเผชิญมา โดยช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิดใหม่ๆเครื่องบินกว่า 96% ไม่สามารถขึ้นบินได้ และส่งผลกระทบต่อรายได้เกือบทั้งหมดของแอร์เอเชีย ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการลดต้นทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของสายการบิน
ประมาณกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เฟอร์นันเดส ประกาศไม่รับเงินเดือน พร้อมเผยว่า กลุ่มพนักงานตกลงยินยอมให้บริษัทลดเงินเดือนลงมากถึง 75% ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสายการบิน
เฟอร์นันเดส บอกว่า ตัวเขาและนายคามารูดิน เมรานัน ประธานคณะกรรมการบริษัท จะไม่รับเงินเดือนในช่วงเวลานี้ ขณะที่พนักงานยอมให้บริษัทลดเงินเดือนชั่วคราว 15-75% ขึ้นอยู่กับความอาวุโส เพื่อร่วมกันแบกรับผลกระทบที่บริษัทต้องเผชิญ
ซีอีโอแอร์เอเชียเผยด้วยว่า สายการบินไม่มีรายรับเข้ามา และ 96% ของฝูงบินต้องจอดนิ่งในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่แอร์เอเชียหยุดบินชั่วคราวเกือบทุกเที่ยวบินมาตั้งแต่เดือน มี.ค.
“คาดว่าแอร์เอเชียจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงลดเงินเดือนพนักงานแผนกต่างๆ ไปจนถึงปลายปีหน้า แต่สายการบินแอร์เอเชียก็คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2565” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวอีกคนซึ่งใกล้ชิดกับเฟอร์นันเดส เปิดเผยว่า เฟอร์นันเดสกำลังเตรียมหายหุ้นในสายการบินที่ไม่ทำกำไรทั้งในญี่ปุ่นและในอินเดีย แต่เฟอร์นันเดส ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้
ขณะที่ในมาเลเซียยังมีกระแสคาดการณ์ว่าแอร์เอเชีย และมาเลเซีย แอร์ไลน์ อาจควบรวมกิจการกัน ซึ่งประเด็นนี้ เฟอร์นันเดส กล่าวว่า สายการบินยังคงเปิดกว้างในทุกเรื่องแต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยแต่อย่างใด
เฟอร์นันเดส บอกว่าเรื่องสำคัญที่สุดของแอร์เอเชียในเวลานี้ คือ การทำอย่างไรที่จะทำให้สายการบินกลับมาให้บริการได้เต็มรูปแบบอีกครั้ง และมีรายได้เข้ามาเพียงพอกับการบริหารธุรกิจรายวัน