ชาวบ้านโคราชโวย สร้างสถานีรถไฟเมืองคงแห่งใหม่ 2 ฝั่งชานชาลาเปลืองภาษีประชาชน ระบุเปิดใช้แค่ฝั่งเดียว ทำให้ลำบากต้องขึ้นสะพานลอยข้ามไปซื้อตั๋ว แล้วต้องย้อนกลับมารอขึ้นรถอีกครั้ง

นครราชสีมา-วันนี้(27 เมษายน 2562) ชาวบ้านในอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการสร้างสถานีรถไฟเมืองคงแห่งใหม่ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการฯที่ก่อสร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีรถไฟเมืองคง พบว่า มีการก่อสร้างช่องจำหน่ายตั๋วรถไฟทั้ง 2 ด้านของสถานี แต่เปิดจำหน่ายตั๋วเพียงด้านเดียว คือบริเวณฝั่งขาล่อง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่หรือนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการจะขึ้นที่ฝั่งตลาดเมืองคง คือฝั่งขาขึ้น ทำให้ต้องลำบากเดินขึ้นลงสะพานลอยเพื่อข้ามไปซื้อตั๋วรถไฟ อีกฝั่ง แล้วขึ้นสะพานลอยอีกรอบกลับมารอรถไฟ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ทำให้ต้องนำเศษไม้มาต่อกันเป็นสะพานเพื่อปีนขึ้นชานชาลาแทนการเดินขึ้นสะพานลอย

จากการสอบถามแหล่งข่าวของการรถไฟฯ เปิดเผยว่า เหตุที่เปิดใช้งานฝั่งเดียวเนื่องจากพนักงานที่ให้บริการมีไม่เพียงพอ ถ้าเปิดใช้สถานีทั้งสองแห่งพร้อมกัน ก็จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างไม่มีความจำเป็น ทำให้ชาวบ้านมีความสงสัยว่า ทำไมต้องก่อสร้างที่จำหน่ายตั๋วรถไฟทั้ง 2ด้านของสถานีให้เปลืองงบประมาณภาษีของประชาชนด้วย อีกทั้ง สถานีรถไฟเมืองคงตามเอกสารการก่อสร้าง ก็ออกแบบให้เป็นสถานีขนาดใหญ่ที่มีชานชาลาที่ยาวมาก ประมาณ 500-600 เมตร ทั้งที่ความจริง ขบวนรถไฟมีความยาวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งสวนทางกับผู้ใช้บริการที่มีปริมาณไม่มากนัก เพราะเป็นเพียงสถานีระดับอำเภอ จึงทำให้ชาวบ้านยิ่งเกิดความสงสัยมากขึ้น ว่าจะก่อสร้างให้ใหญ่โตไปทำไมสิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ

และเมื่อสอบถามนายฉัตรณรงค์ คงบารมี ผู้ใช้บริการโดยสารรถไฟไปทำงานเป็นประจำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 13 ปี เปิดเผยว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงของรถไฟไทยก็รู้สึกดีใจ แต่ก็สงสัยว่า เหตุใดการรถไฟสร้างห้องจำหน่ายตั๋วแล้วไม่เปิดใช้งาน ตนมีบ้านอยู่ฝั่งตลาดเมืองคงจะต้องขึ้นสะพายลอยเพื่อมาซื้อตั๋วฝั่งตรงข้าม แล้วต้องขึ้นสะพานลอยย้อนกลับอีกรอบเพื่อไปรอขึ้นรถ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไรเพราะร่างกายยังแข็งแรง ออกกำลังกายประจำ แต่รู้สึกสงสารผู้สูงอายุกับผู้พิการที่เดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหว หากจะใช้ทางลาดที่หัวชานชาลา ก็ต้องเดินไปอีกค่อนข้างไกล ตากแดดตากฝนไปไม่มีหลังคาคลุมและไม่มีเครื่องมือควบคุมความปลอดภัย จึงอยากวิงวอนให้การรถไฟฯ เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ใช้บริการเป็นประจำด้วย

//////////////////

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา