สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยตั้งคณะทำงาน “บิ๊กปัด” คุม มีข้อมูลตามติดพฤติกรรมกลุ่มที่ล่วงละเมิดสถาบันฯ ใช้พ.ร.บ.คอมฯ เอาผิด พิจารณา ม.116 หากเข้าข่าย

กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งไม่ให้ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 กับประชาชน และออกมาเตือนกลุ่มที่เคลื่อนไหวจาบจ้วงสถาบันฯ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการติดตามความเคลื่อนไหวที่มีลักษณะพาดพิงสถาบันฯ ว่า อยู่ระหว่างติดตามรายชื่อเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ไม่ใช้ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญามาดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีคณะทำงานเรื่องนี้อยู่ ประกอบด้วยด้านกฎหมาย การสืบสวน และความมั่นคง ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดยมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เป็นผู้กำกับดูแล ขณะนี้มีข้อมูลบุคคล มีการติดตาม ตรวจสอบบุคคล และกลุ่มคน ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเรื่องนี้อยู่ เรามีรายชื่อมีข้อมูลอยู่แล้ว อยู่ในกระบวนการติดตามดำเนินคดี

เมื่อถามว่ามีการนำกฎหมายอาญามาตราอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้ประกอบการกล่าวโทษดำเนินคดีหรือไม่ รองโฆษกตร.กล่าวว่า อันนี้ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ แต่กฎหมายหลักที่ตำรวจใช้ดำเนินการกับบุคคล หรือกลุ่มคน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนป.อาญา ม.116 นั้นองค์ประกอบกว้าง การนำมาใช้ต้องดูรายละเอียดพฤติกรรม หากเข้าข่ายความผิดก็ต้องดำเนินคดีด้วย

“ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้และดำเนินการอย่างรอบคอบ มีคณะทำงานดำเนินการ ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งด้านการสืบสวนสอบสวน และกฎหมาย” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

“สิ่งสำคัญคือขอเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อข้อมูลเช่นนี้ หากได้ข้อมูลเหล่านี้ให้ใช้วิจารณญานดีๆ เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง อย่าตกเป็นเหยื่อของคนกลุ่มนี้”รองโฆษกตร.กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ทำความผิด ได้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ในมาตราที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรา 14 การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มาใช้ ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์การกระทำความผิด ว่าเข้าข่ายผิดมาตราไหนอย่างไรก็ต้องพิจารณาไปตามกฎหมาย

“การกระทำใดๆที่เป็นความผิดฐานละเมิดสถาบันฯ หากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงช่องทางไลน์ ทางโซเชียลมีเดียต่างๆที่นิยามได้ว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องพิจารณาดำเนินคดีภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตราที่เกี่ยวข้อง”