ผวาบินไทย! เหลือเงินจ่ายพนง.ได้แค่ต.ค. ชี้พนักงานสมัครใจลดเงินต่ำกว่าเป้า ล่าสุดช่วยประหัดค่าใช้จ่ายได้แค่เดือนละ261ล้าน ขณะที่ยังหยุดบินไร้กำหนด เหตุรัฐบาลยังไม่เปิดน่านฟ้า
วันที่ 19 ส.ค. รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทการบินไทยมีเงินสดหมุนเวียนที่สามารถนำมาใช้จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการและจ่ายเงินเดือนพนักงานได้แค่ภายในเดือนต.ค.63 เท่านั้น ล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเหลือเพียง 1.4 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมานายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พยายามเร่งผลักดันมาตรการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เป็นผลมากนัก
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้นั้น พบว่ารายได้หลักจากค่าบัตรโดยสารนั้น ยังมีเข้ามาจำนวนน้อยมาก จากการเปิดบินเที่ยวบินพิเศษขนส่งคนกลับสู่ภูมิลำเนา ส่วนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ปกติยังไม่สามารถเปิดให้บรอการได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการเปิดน่านฟ้าให้เที่ยวบินพาณิชย์ทำการบิน เนื่องจากทั่วโลกยังมีการระบากโรคไวรัสโควิดอย่างรุนแรง จึงยังไม่มีกำหนดบินที่แน่นอน แต่เบื้องต้นคาดว่าการบินไทยจะกลับมาบินอีกครั้งช่วงต้นปี 64 เนื่องจากต้องรอให้มีการผลิตและใช้วัคซีนได้ก่อน ขณะที่รายได้จากการขายอาหารของครัวการบิน และฝ่ายซ่อมบำรุงมีเข้ามาไม่มาก
ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายนั้น พบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าบริษัทได้ดำเนินโครงการ Together We Can ด้วยการปรับลดค่าตอบแทนและเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 40-70 % รวมทั้งเชิญชวนให้พนักงานเข้าร่วมโครงการสมัครใจลดเงินเดือน และหยุดงานโดยไม่รับค่าตอบแทนหรือ Leave with out Pay มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันการบินไทยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายภาพด้านบุคลากร ซึ่งเกิดจากการยินยอมปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารและพนักงาน ได้ รวมทั้งสิ้น 261 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นการประหยัดจากฝ่ายผู้บริหารระดับสูง3.7ล้านบาท/เดือน และฝ่ายพนักงาน257ล้านบาท/เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานของบริษัทซึ่งได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้านั้น พบว่าหลังจากบริษัทใช้ในโยบายทำงานที่บ้านเป็นเวลา 3 เดือน คือระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 บริษัทสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ได้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 11 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.6 ล้านบาท
ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 1.สำนักงานใหญ่ ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 5.3 ล้านบาท โดยมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 14.3 ล้านบาท ประหยัดค่าน้ำได้ 2.4 แสนบาท มีค่าน้ำเท่ากับ5.9แสนบาท 2.สำนักงานหลักสี่ ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 1.55 ล้านบาท โดยค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 7 แสนบาท ประหยัดค่าน้ำได้2.3หมื่นบาท ค่าน้ำอยู่ที่ 8 หมื่นบาท 3.สำนักงานดอนเมือง ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 8.2 หมื่นบาท ค่าไฟฟ้าอยู่ที่2แสนบาท ประหยัดค่าน้ำประปาได้ 5.6 พันบาท ค่าน้ำอยู่ที่ 3.5 หมื่นบาท
4.สำนักงานหลานหลวง ประหยัดค่าไฟฟ้าได้7.5แสนบาท ประหยัดค่าน้ำประปาได้ 1.2หมื่นบาท 5.สำนักงานหลานหลวง ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 7.5แสนบาท ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 1 ล้านบาท ประหยัดค่าน้ำประปาได้1.หมื่นบาท ค่าน้ำอยู่ที่ 3.8หมื่นบาท และ5. ศูนย์ปฏิบัติการOPC ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 2.9ล้านบาท ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.5 ล้านบาท ส่วนค่าน้ำประปาพบว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3 หมื่นบาท ค่าน้ำอยู่ที่ 5.6 แสนบาท