หอการค้าไทย เผยข้อมูลน่าวิตก 6 เดือนถ้าเศรษฐกิจยังทรุด คนตกงานพุ่ง 2 ล้าน
วันที่ 19 ส.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบันมีความน่ากังวลอย่างชัดเจน โดยเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% ตัวเลขการว่างงานจึงเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงก่อนการล็อกดาวน์ จากอัตราการว่างงานเพียง 1% หรือประมาณ 4 แสนคน พุ่งสูงขึ้นเป็น 8 แสนคน หรือ 1.95%
ประกอบกับหลายประเทศยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ จนผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมไปทั่วโลกทั้ง 5 ทวีป จึงไม่สามารถการทำทราเวลบับเบิลได้อย่างน้อยอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนการส่งออกก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
จากผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือนจนถึงสิ้นปี ธุรกิจเอสเอ็มอี อาจมีการปลดคนงานสูงถึง 2 ล้านคน สอดคล้องกับตัวเลขจากสภาพัฒน์ ที่ทำให้เห็นว่าผลกระทบการว่างงานระยะแรกเกิดขึ้นแล้ว
“ต้องจับตาดูว่า ศบศ.จะจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน หากมาตรการเศรษฐกิจที่ออกมามีผลสำเร็จ อัตราการว่างงานในช่วงปลายปีไม่ควรถึง 1.5 ล้านคน แต่หากปลายปีเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นก็มีโอกาสที่จะเห็นตัวเลขการว่างงานสูงถึง 2 ล้านคนได้”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาคนตกงาน กับคนเป็นหนี้มากขึ้น ดังนั้นตัวเลขในไตรมาส 2 จึงปรากฏออกมาอย่างที่เป็นข่าว และได้แต่หวังว่าในไตรมาส 4 ตัวเลขการจ้างงานจะพุ่งสูงขึ้น เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่น การใช้จ่าย รัฐบาลจึงควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้ได้ภายในต้นไตรมาส 4
ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ประชาชนไม่ได้อยากก่อหนี้เพิ่ม แต่ประชาชนมีความจำเป็นจึงต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น และมาตรการรัฐมีการออกมาตรการให้กู้เพื่อเยียวยาธุรกิจ ส่งผลให้ตัวหนี้เพิ่มอยู่แล้วโดยนโยบาย หากปะครองการจ้างงานได้การก่อหนี้จะไม่เพิ่มขึ้น / รวมถึงเรื่อง จีดีพี หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ จีดีพี พลิกฟื้นได้ในปลายปีเราอาจเห็นระดับหนี้ครัวเรือนทะลุ 85%