สนช.รับลูก แก้ พรบ.จราจร กำหนดโทษใหม่ ตร.ลงโทษหนัก มนุษย์ลุงป้า-รถบรรทุก ขับช้าแข่ขวา
สนช.ผ่าน พรบ.ลงโทษ ขับช้า แช่ขวา – วันนี้ (17 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธาน ได้มีมติรับหลังการร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้มีความทันสมัย ด้วยคะแนน 157 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ก่อนที่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงหลักการเพื่อแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย และเพื่อเป็นมาตรการเพิ่มระเบียบวินัยสำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนน ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาที่ปรับให้สัมพันธ์กับกรณีที่จะให้มีใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ทั้งนี้ ได้มีสมาชิก สนช.ลุกขึ้นอภิปรายท้วงติงบางมาตรา และขอให้ทบทวนเนื้อหาในหลายประเด็น โดย นายกิตติ วะสีนนท์ สนช. อภิปรายว่า การตรวจสอบรถที่ทำผิดกฎจราจรผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) และออกใบสั่งเพื่อเสียค่าปรับนั้น ที่ผ่านมาพบว่าใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากผู้ที่ได้รับใบสั่งปฏิเสธว่า เป็นผู้กระทำผิด
ดังนั้น ควรพิจารณามาตรการรองรับ หรือกรณีที่พบว่ากล้องจับรถที่กระทำผิด เช่น วิ่งคร่อมเส้นทึบ เพราะมีเหตุจำเป็นหรือเพราะเหตุฉุกเฉิน ควรพิจารณามาตรการรองรับด้วย รวมถึงขอให้หารือเป็นข้อตกลงเดียวกันกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก เป็นต้น
ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน สนช. อภิปรายว่า เสนอเขียนมาตรการกรณีที่พบการทุจริตจากกรณีการชำระค่าปรับตามใบสั่ง รวมถึงให้แก้ไขคำนิยามว่าด้วยใบอนุญาตขับขี่ ที่เชื่อมโยงกับใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ด้วย นอกจากนี้ยังมีสนช.อีกหลายคน
อภิปรายเพื่อขอให้กำหนดมาตรการเอาผิด และลงโทษผู้ขับขี่รถด้วยความเร็วต่ำ แต่วิ่งในเลนจราจรด้านขวา เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการแซงรถ เพราะช่องทางซ้ายสุดเป็นพื้นที่จราจรสำหรับรถที่ใช้ความเร็วต่ำ และหามาตรการลงโทษรถบรรทุก ที่บรรทุกหนัก แต่วิ่งในเลนจราจรด้านขวาด้วย
ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะคณะกรรมการแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชี้แจงว่า ประเด็นปฏิเสธใบสั่งจากตำรวจจราจรหรือใบสั่งที่ส่งทางไปรษณีย์ สามารถทำได้ เพราะใบสั่งเป็นเพียงใบกล่าวหาไม่ใช่คำพิพากษา แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยตำรวจหลังปฏิเสธใบสั่ง
ขณะที่มาตรการชำระค่าปรับนั้น เดิมถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงชำระค่าธรรมเนียม ไม่ใช่มาตรการลงโทษ ดังนั้นเมื่อนำคะแนนความประพฤติบังคับใช้ และตัดแต้มบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎจราจร หากพบว่าแต้มความประพฤติถูกตัดจนถูกเพิกใช้ใบอนุญาตขับขี่ จึงต้องหาวิธีคืนแต้ม ผ่านการอบรมและสอบตามหลักสูตรของกรมขนส่งทางบก และ สตช. ทั้งนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ตระหนักว่าไม่ควรทำผิดกฎจราจรอีก
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีพกใบอนุญาตขับขี่ ตามที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พกติดตัวไว้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกระบุสามารถใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นต้องแก้ไขร่างกฎหมาย หากไม่เกินหลักการ จะแก้ไขจากให้พกติดตัว ไปเป็นการแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเรียกตรวจ แต่หากการแก้ไขเป็นเนื้อหาที่เกินหลักการ ต้องส่งไปยังครม. เพื่อขออนุมัติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ใบอนุญาตขับขี่ เป็นเพียงการรับรองสถานะภาพของผู้ที่ขับรถได้ มากกว่าการควบคุมขับขี่ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน ในอนาคตอาจไม่ต้องพกใบขับขี่ เพราะข้อมูลทั้งหมดจะบรรจุในบัตรประจำตัวประชาชน ที่กำกับโดยเลขประจำตัว 13 หลัก
พล.ต.อ.เอกรักษ์ ชี้แจงต่อว่า สำหรับบทบัญญัติที่เพิ่มเติมห้ามผู้เมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นขี่จักรยานนั้น เพื่อแก้ปัญหากรณีที่เจ้าพนักงานจับผู้เมาสุราขณะขี่จักรยาน แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่กรบะวนการ ศาลสั่งไม่ฟ้อง เพราะตามกฎหมายไม่ระบุไว้ ทั้งนี้ผู้ที่ขี่จักรยานบนทางสาธารรณะและอยู่ในอาการมึนเมา อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ทั้งนี้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงการปรามไม่ให้ก่ออันตราย เพราะลงโทษเป็นค่าปรับเพียง 500 บาท ขณะที่ปัญหาการขับขี่รถช้าในเลนขวา จะพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงโดยให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดอัตราความเร็วตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกให้เหมาะสมตามสภาพการจราจรและยานพาหนะ เบื้องต้นเสร็จไปแล้ว 95%
สาระสำคัญ คือ จะเพิ่มความเร็วบนถนนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด่วน และทางปกติ ส่วนผู้ที่ขับช้าอยู่ในเลนขวาสุด จะกำหนดความเร็ว ผู้ที่ขับรถอยู่ในช่องทางขวาสุด เพื่อแก้ปัญหามนุษย์ลุง มนุษย์ป้าที่ขับช้า แต่แช่เลนขวา ที่ต้องถูกใบสั่ง