“ยูเอ็น “เข้าใจและพอใจ ศธ. หลังเปิดโอกาสรับความคิดเห็นของนักเรียน ทุกแพลตฟอร์ม เป็นแนวทางที่ไม่ได้พบเห็นมากนักในโลกนี้ ด้าน “ณัฏฐพล” เผยทุกข้อร้องเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย
วันที่ 21 ก.ย. 2563 นางสาว กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือยูเอ็น (Ms.Gita Sabharwal United Nations Resident Coordinator in Thailand) เข้าเยี่ยมคารวะ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ
ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเยี่ยมคารวะในครั้งนี้ นายณัฏฐพล เปิดเผยว่า ทาง นางสาว กีต้า ซับบระวาล ได้แสดงความเข้าใจ และชื่นชม กรณีที่กระทรวงศึกษาธิการของไทย เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนในช่วงที่ผ่าน ซึ่งเป็นแนวทางหรือวิธีการแก้ไขที่ไม่เคยได้เห็นบ่อยๆ ที่ใดก็ตามในโลกนี้
นอกจากนี้ นางสาว กีต้า ยังได้สอบถามความคืบหน้าหลังจากได้พูดคุยและรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนแล้ว ทางกระทรวงศึกษาของไทย จะมีการดำเนินการอย่างไร นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนเองได้อธิบายว่า ที่ผ่านมา เราได้เปิดแพลตฟอร์มในการรับความคิดเห็นผ่านหลายช่องทาง
รวมถึงผ่าน www.nataphol.com โดยทุกแพลตฟอร์มที่เราเปิดรับ ต้องทำให้ข้อมูลของผู้แสดงความคิดเห็น หรือร้องเรียนเข้ามา มีความปลอดภัยด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาเกือบทุกเรื่อง ที่เราสามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อน หรือเพื่อการปฏิรูป และการพัฒนาการศึกษาไทยให้รวดเร็วในทุกด้าน
นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า โดยในเรื่องของแนวทางการขับเคลื่อน เช่น การพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งครู ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตของครู ส่วนนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งไม่เป็นปัญหา เพราะถือเป็นข้อร้องเรียนของครูที่กระทรวงให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่องหลักสูตรครู ซึ่งอยู่ในแผนที่กระทรวงศึกษาจัดวางไว้อยู่แล้ว
“ผมเรียนคุณกีต้า ไปว่า ข้อมูลที่เข้ามา เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในทุกด้าน ซึ่งในเกือบทุกเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นไปตามแผนที่กระทรวงศึกษาวางแนวทางเอาไว้ด้วย”นายณัฏฐพล กล่าว
ต่อข้อถามที่ว่า มีความกังวลเรื่องม๊อบหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า สิ่งที่ ศธ. ดำเนินการ ไม่ว่าผลหรืออะไรก็ตาม รวมถึงข้อแนะนำจากการเปิดเว็บไซด์ เรารับฟังความคิดเห็นหมดทุกเรื่อง และตอบโจทก์ได้หมดแล้ว ทำให้นักเรียนเข้าใจ หากนักเรียนยังรู้สึกอึดอัด หรือมีปัญหา สามารถร้องเรียนมาได้ โดยเรามีแนวทางในการแก้ไขที่แน่นอน และไม่มีปัญหาใดที่ ศธ. รับเรื่องร้องเรียนมาแล้วแก้ไขไม่ได้ เพียงแต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมในเวลาที่จะทำ เพราะบางเรื่องถ้าฟังแล้วก่อให้เกิดความแตกแยก หรือไม่เหมาะสมก็จะขอไว้ก่อน
ส่วนประเด็นการยกเลิกการสอบระดับ ป.1 นั้น นายณัฏฐพล ย้ำว่า เรื่องดังกล่าว เป็นระเบียบที่โรงเรียนต้องปฏิบัติ ไม่ได้เป็นการพูดเรื่องใหม่ แต่เป็นการนำระเบียบที่มีอยู่นำกลับมาดูใหม่ และทำตามนั้น ถ้าทำตามนั้นได้ ก็จะขับเคลื่อนได้เร็ว แต่ถ้าอันไหนเห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งมาได้
“ส่วนการยกเลิกสอบ ป1. นั้น เขาห้ามอยู่แล้ว ไม่มีการสอบเข้า ป.1” นายณัฏฐพล กล่าวย้ำ
ขณะที่มีการกำหนดให้นักเรียนต่อห้องมีเด็กนักเรียนไม่เกิน 40 คนนี้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า เป็นการนำเอาระเบียบกลับมาดูแล้วปฏิบัติตามนั้นเช่นกัน ซึ่งตนเอง ก็ไม่ต้องการให้มีนักเรียนเกิน 40 คนต่อห้องอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ก็มีการพูดคุยกันอยู่ถึงกรณีโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียน 4,000-5,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนนักเรียนที่มากเกินไป จึงมีความกังวลในเรื่องคุณภาพมากกว่า
เพราะเด็กส่วนหนึ่งที่มีความสามารถเยอะมาก แต่ก็มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษาที่เข้มข้น ซึ่งเป็นการเหลื่อมล้ำ หากเทียบกับการคาดหวัง รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนนอกเมือง เป็นอีกกรณีที่ตนห่วงใย และต้องหาแนวทางแก้ไข