แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เสร็จสิ้น โดยการกระชุมวันนี้ยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เนื่องจากอยู่ในช่วงกักตัว

สำหรับผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เห็นสมควรให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 2564 โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ค. 2564

……………
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายทุกกระทรวง อาจารย์แพทย์ โดยมีตัวแทนหลายท่าน เช่น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ท.นพ.อนุช จิตตินัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันนี้จึงมีความพยายามตัดสินใจกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบครอบ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั้งระดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทยเอง มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง รวมถึงมีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีแนวโน้มมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อรายวันก็เพิ่มขึ้น และยังมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนกลุ่มแรงงานจากกรุงเทพฯ ทำให้กระจายเชื้อหลายจังหวัดทั่วประเทศ เกิดการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นสมควรให้มีการขยายประกาศระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายม โดยจะมีการนำเสนอเข้าครม. ในวันที่ 13 ก.ค. ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถบูรณาการความรับผิดชอบ หน้าที่อำนาจทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเป็นการลดอัตราเสียชีวิต ลดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลกิจการกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ด้านการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และการพิจารณาระดับพื้นที่สถานะการย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรที่เป็นข้อสรุปของ ศบค.ชุดใหญ่ หลักคิดเบื้องต้นที่สำคัญ คือ 1.การจำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า ล็อกดาวน์ 2.กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว 3.การเร่งรัดมาตรการทางการแพทย์และการเยียวยาให้เร็วที่สุด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มาตรการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีการแบ่งสีของพื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา , พื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดง) จากเดิม 5 จังหวัดปรับขึ้นเป็น 24 จังหวัด , พื้นที่ควบคุม(สีส้ม) จากเดิม 9 จังหวัดปรับขึ้นเป็น 25 จังหวัด , พื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) จากเดิม 53 จังหวัดลดลงเหลือ 18 จังหวัด และ พื้นที่เฝ้าระวัง(สีเขียว) ตอนนี้ไม่มีจังหวัด ซึ่งมีการประกาศทุกจังหวัดตามสี
พญ.อภิสมัย กล่าว ข้อปฏิบัติ คือ บังคับใช้เฉพาะ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มข้น อย่างเข้มงวด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
1.ขอให้มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน(work from home) ให้มากที่สุด
2.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถเปิดได้ถึงเวลา 20:00 น.
4.ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับ เปิดได้ถึง 20:00 น.
5.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดแผนโบราณ สปา สถานเสริมความงาม
6.ขนส่งสาธารณะ สามารถเปิดได้ถึง 21:00 – 03.00 น.
7.สวนสาธารณะ เปิดได้ถึงเวลา 20:00 น.
8.ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี เช่น งานศพจัดได้ ที่รวมกันเกิน 5 คนขึ้นไป
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อปฏิบัติสำหรับ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติม ได้แก่
1.สถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด อนุญาตตามข้อกำหนดเดิม โดยให้เรียนออนไลน์เท่านั้น 100%
2.ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21:00 – 04:00 น. โดยเฉพาะกรณีจำเป็น เช่น พบแพทย์ ไปโรงพยาบาล บุคลากรแพทย์ที่จะต้องสับเปลี่ยนเวร การซ่อมไฟฟ้าประปา
“โดยมาตรการทั้งหมดนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการกำกับควบคุมมาตรการ โดยฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้ร่วมหารือกับมาตรการที่ประกาศในวันนี้ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าวและว่า ให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ชุดลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการสรุปมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เรามีการเพิ่มสถานที่คัดกรอง เร่งเปิดจุดตรวจให้ประชาชนเข้าถึง เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน และแยกประชาชน ที่ติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด
2.สาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน ใน กทม.และปริมณฑล เร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค/โรคเรื้อรัง โดยจะต้องฉีดให้ได้ 1 ล้านโดสภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
การจัดสรรวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ทั้ง วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐอเมริกา และ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดสจากประเทศญี่ปุ่นที่มาถึงในวันนี้ โดยมุ่งเน้นไปยังผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย ที่อายุมากกว่า 60 ปีและมีโรคประจำตัว ผู้จำเป็นที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
“ที่ประชุมมีข้อสรุปให้มีการจ่ายวัคซีนไฟเซอร์ เป็นบูทเตอร์โดส(booster dose) ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุดด้วย” พญ.อภิสมัย กล่าว