“สดร.” ชวนดูจันทรุปราคาเงามัว หลังเที่ยงคืนวันที่ 5 มิ.ย.จนถึงรุ่งสางตี 4

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ช่วงหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน เข้าสู่รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นคืนดวงจันทร์เต็มดวง จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ00.46 น. ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลก ความสว่างของดวงจันทร์จะค่อยๆ ลดลงเล็กน้อย จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีสีคล้ำ เงามัวจะบังมากที่สุดในเวลาประมาณ 02.24 น. จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์เวลาประมาณ 04.04 น. รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวในครั้งนี้นาน 3 ชั่วโมง 18 นาที

นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“ปรากฏการณ์จันทรุปราคามักเกิดขึ้นนานนับชั่วโมง เพราะเงาของโลกมีขนาดใหญ่มาก ต่างจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่สังเกตได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563″นายศุภฤกษ์ กล่าว

สามารถดูเทคนิคการถ่ายภาพได้ในเวป https://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/1080-partial-lunar-eclipse-5-june-2020