“สุวัจน์” เป็นประธานมหาสงกรานต์โคราช
แห่พระคันธารราฐ ลอดซุ้มประตูเมือง แสดงพลังคนโคราช อย่างคึกคัก
มหาสงกรานต์โคราช คึกคัก แห่พระคันธารราฐ รอบเมืองให้ชาวโคราชและนักท่องเที่ยวได้สักการะขอพรเป็นสิริมงคลรับสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย วันครอบครัว ทุกคนอยู่กับครอบครัวและชาร์ตพลังให้พร้อม เมื่อตนเองมีพลัง ครอบครัวก็มีพลัง ทุกครอบครัวในจังหวัดนครราชสีมามีพลัง และเป็นพลังของจังหวัด เป็นพลังของประเทศ ในการที่จะฝ่าฟันวิกฤตต่อไป
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “สงกรานต์โคราช แห่พระพระคันธารราฐ ลอดซุ้มประตูเมือง” ประจำปี 2565 โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประเเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยว ร่วมกันประกอบพิธีแห่พระพระคันธารราฐแห่รอบเมือง และลอดซุ้มประตูเมืองนครราชสีมา เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน ได้มาสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลรับเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565
โดยอัญเชิญพระคันธารราฐ หรือ พระปางขอฝน พระพุทธรูปสำคัญซึ่งประดิษฐานที่วิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร แห่ผ่านเมืองไปยังลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา และประดิษฐานชั่วคราว ที่บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามให้กลับคืนมาเจริญรุ่งเรือง และได้กราบสักการะ-สรงน้ำขอพร ในช่วงการจัดงานประเพณีสงกรานต์ย้อนยุคของจังหวัดฯ หลังจากนั้น จึงจะทำพิธีแห่พระลอดซุ้มประตูชุมพล ซึ่งเป็นประตูเข้าสู่เมืองนครราชสีมา กลับไปยังวิหารหลวงที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหารตามเดิม
นายสุวัจน์ กล่าวว่าวัฒนธรรมประเพณีเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในการยึดโยงความรักความสามัคคี และเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ซึ่งบรรพบุรุษได้รักษา มรดกทางวัฒนธรรมมานับเป็น 100 ปี พันปี เวลาห้วยกลับไปไม่ได้ คุณค่าทางวัฒนธรรมเลยเป็น Soft Power มีประโยชน์และคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และการสร้างความรักความสามัคคี
วันสงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญ เพราะเป็นวันปีใหม่ของคนไทย จนกระทั้งปี 2484 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 ม.ค.แต่เราก็สามารถรักษาประเพณีได้มาจนถึงทุกวันนี้ และไม่ใช่แค่วันสรงกรานต์ แต่ได้มีการประกาศให้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ วันผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการแสดงออกให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ ร่มโพธิ์ร่มไทร ให้กับครอบครัวไทย
นอกจาก วันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุแล้ว ต่อมาในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้เริ่มต้นได้ให้เป็นวันครอบครัว ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.2533 เพื่อให้ความสำคัญ ครอบครัวที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของประเทศ นี้คือ ความยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่ได้รักษาเอาไว้
นายสุวัจน์ กล่าว่า 1 ปีที่ผ่านมาเราได้ต่อสู้กับวิกฤติต่างๆ ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นทั้งวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เราฝ่าฟันกันมาได้ เพราะคนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน เราระดมความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างยิ่ง โดยท่านผวจ.นครราชสีมา ได้ลงมาดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีน และการระดับตรวจ ATK ร่วมทั้งท่านนายกเทศมนตรี ได้จัดหาวัคซีน จัดหา ATK และร่วมกันวางมาตรการต่างๆ ร่วมถึงท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านเทวัญ ลิปตพัลลภ,ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ และนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ผอ.ศูนย์ฅนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ที่ได้ออกมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จนทำให้พี่น้องประชาชนได้มีกำลังใจ ในการต่อสู้กับวิกฤติกันมาได้
“วันหยุดหลายวัน ผมอยากให้ทุกคนอยู่กับครอบครัวและชาร์ตพลัง ทำบุญ ทำกุศล อยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะชาร์ตไฟให้ตัวเอง ให้มีพลังพร้อมที่จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ให้ตัวเองมีพลัง เมื่อตนเองมีพลัง ครอบครัวของตนเองก็มีพลัง ทุกครอบครัวในจังหวัดนครราชสีมามีพลัง และเป็นพลังของจังหวัด เป็นพลังของประเทศ ในการที่จะฝ่าฟันวิกฤตต่อไป” นายสุวัจน์ กล่าว
“พระคันธารราษฎร์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ
ครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมาขณะนั้น ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมาจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป กระทั่งเมื่อปี 2559 วัดพระนารายณ์ฯ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ปิดทองพระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพลขึ้นมา ซึ่งการลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช ประชาชนนิยมกราบไหว้พระคันธารราษฎร์ เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่า “พระขอฝน”