ระลอก 2 ของโควิด-19 ยืนยันเลยว่ามีแน่ รอบแรกคนตายจำนวนหนึ่ง แต่รอบสองตายมากกว่ารอบแรก
ยังอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด” ระลอกใหม่ ภายหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในภาวะขึ้นๆ ลงๆ ในรอบหลายวันจนมาถึงวันที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (ศบค.) รายงานตัวเลขติดเชื้อไวรัสขยับเป็น 2 หลักในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถึงแม้ผู้ติดเชื้อเป็นผลจากการปูพรมเข้าตรวจเชิงรุกภายในสถานที่กักตัวของรัฐ แต่ด้วยมาตรการผ่อนคลายระยะ 2 กำลังเป็นช่วงเวลาวัดใจไปถึงกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจะกลับมาสวิงอีกครั้งแค่ไหน โดยเฉพาะสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลกยังอยู่ในภาวะ “วิกฤติ” จะมีผลต่อการแพร่ระบาดในประเทศไทยในอนาคตหรือไม่
เป็นปัจจัยที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งคำเตือนถึงโอกาสการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในคลื่นใหม่ระลอก 2 โดย “เนชั่นสุดสัปดาห์” รวมรวมประเด็นสำคัญแบบ “คำต่อคำ” ใน “Mahidol Chanel” หัวข้อ “เตรียมรับมือการระบาดระลอก 2 โรค COVID-19” เพื่อเปิดทางรอดทุกฝ่าย พร้อมรับสถานการณ์ที่รออยู่ข้างหน้า
เริ่มที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ บอกว่า โอกาสที่เราจะมีระลอก 2 ของโควิด-19 มีเท่าไหร่ ผมยืนยันเลยว่ามีแน่ รอบแรกคนตายจำนวนหนึ่ง แต่รอบสองตายมากกว่ารอบแรกมากกว่าเท่าตัว ถ้า 1 วันมีคนติดเชื้อกระจายไปแล้ว เวลากระจายไปคูณยกกำลัง 2 มันไม่ได้คูณสอง แต่มันยกกำลังสอง
“มีบางคนเข้าใจว่าผมต้องการจะออกมาขู่ แต่ขณะเดียวกันถ้าเราดูประวัติที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ผมติดตามทุกประเทศทุกวัน ผมถึงมั่นใจว่ารอบสองมาแน่ เพราะโดยธรรมชาติต้องมีกลับเข้ามา กลับเข้ามาไม่ห่วง แต่ที่ผมห่วงกลับเข้ามาแล้วสูงหรือไม่สูง ถ้ากลับเข้ามาแล้วติดเชื้ออยู่หน่อยนึง เรากดลงมาได้ก็ไม่เป็นไร ทุกครั้งที่กลับเข้ามาแล้วมีการติดเชื้อ ทุกคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ตายจะเกิดภูมิต้านทานขึ้น ถ้าภูมิต้านทานนี้เยอะ จนกระทั่งครอบคลุมคนไทย 2 ใน 3 ทั้งประเทศ โควิดอยู่ในเมืองไทยไม่ได้แล้ว”
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมเชื้อโรคโควิด-19 ได้เร็ว “คุณหมอประสิทธิ์” บอกว่า ในการที่จะบอกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะคุมโควิด-19 ได้หรือไม่ได้ อันที่หนึ่งที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผม
“ปัจจัยเรื่องคน” การที่เราส่งสัญญาณกับคนไทยว่าให้อยู่บ้านใส่หน้ากาก รักษาระยะ ล้างมือบ่อยๆ ไปดูว่าทุกคนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ทำตามแบบนี้
“ปัจจัยที่สอง” เรื่องบริหารจัดการ ณ วันนี้เราบริหารจัดการได้ดีภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล และฝ่ายวิชาการคือมหาวิทยาลัย
“ปัยจัยที่สาม” เรื่องเทคโนโลยี อันที่หนึ่งคือการตรวจ เป็นเรื่องที่เราทำได้ไม่ถึงกับดีนัก ถ้าผมให้ตัวเลข 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศที่ตรวจเยอะที่สุดในเวลานี้คือ “สิงคโปร์” ตรวจเข้าไป 4 หมื่นกว่าการทดสอบต่อประชากร 1 ล้านคน อับดับสองคือบรูไนก็ 3 หมื่นกว่า อันดับสามคือมาเลเซียคือ 6 พันกว่า ของเรา 4 พันกว่าเอง เราต่างกับที่อื่นเยอะมาก
“ส่วนตัวไวรัสเป็นปัจจัยสุดท้าย มีการพูดกันเยอะว่าสายพันธ์ุที่เป็นที่เรากับสายพันธ์ุที่อยู่ในอเมริกาแตกต่างกัน มันแตกต่างกันจริง แต่ก็มีการยืนยันแล้วว่าความแตกต่างของสายพันธ์ุไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความรุนแรงของเชื้อ”
ขณะที่ประเทศไทยหลังคลายมาตรการล็อคดาวน์นั้น “คุณหมอประสิทธิ์” ชี้ให้เห็นว่าทุกครั้งที่ผ่อนอันดับแรกคนจะออกจากบ้าน ทุกครั้งที่ออกจากบ้านมีโอกาสไปเสี่ยงกับการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว คนเยอะๆ ไปอยู่ในร้านหนึ่งร้านระยะห่างก็เป็นไปไม่ได้ ก็เป็นความเสี่ยงตัวที่สองเพราะจะใกล้กันมากขึ้น ดังนั้นเหลืออันเดียวคือทุกคนทำคือต้องใส่หน้ากากและล้างมือบ่อยๆ ถ้าตราบใดใส่หน้ากากอย่างน้อยจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง
“ทันทีที่เราผ่อนระยะแรก เรารู้ตลอดเวลาว่าเรื่องให้อยู่บ้านจะแย่ลงนะ เรื่องการรักษาระยะห่างจะแย่ลงนะ เรายังย้ำเรื่องหน้ากากไม่ถอยนะ อันนี้ไม่ผ่อนทุกคนยังต้องใส่หน้ากากนะ แล้วพยายามหลักเลี่ยงเท่าที่ทำได้”
“คุณหมอประสิทธิ์” ยอมรับถึงสิ่งที่เป็นกังวลคือการผ่อนคลาย ตอนนี้มันผ่อนแล้วคนเก็บกดมาเยอะ ระยะหลังๆ เริ่มเห็นแล้วไม่ใส่หน้ากากกันบ้าง เนื่องจากผับยังปิดอยู่ก็นัดไปสังสรรค์ที่บ้าน เปิดผับกันที่บ้านเลย ดื่มเหล้ากันที่บ้าน ไม่มีใครใส่หน้ากากดื่มเหล้าอยู่แล้ว และดื่มเหล้าเข้าไปคงไม่มีใครกระซิบพูดเบาๆ ถ้ามีแม้แต่ 1 รายที่มีไวรัสอยู่ก็แพร่ได้แล้ว เป็นสิ่งที่เราคอยระวังอยู่ตลอดเวลา
ส่วนการถอดบทเรียนการระบาดรอบ 2 จากประเทศเพื่อนบ้าน “คุณหมอประสิทธิ์” วิเคราะห์ว่า เราเห็นประเทศหลายประเทศที่เกิดระลอก 2 เกาหลีใต้อาทิตย์ที่แล้วจะขึ้นรอบ 2 ก็วิ่งกลับมาคุมใหม่ทั้งหมดทันทีตอนนี้ก็ลงมา “สิงคโปร์” ตอนแรกคนชื่นชมมากเพราะมีแต่ 509 ราย ณ วันนี้ 2.6 หมื่นไปแล้ว และรอบสองกับรอบแรกต่างกันเป็นสิบๆ เท่า
“ที่ไม่นานมานี้เราก็เห็นที่ประเทศญี่ปุ่น “ฮอกไกโด” เป็นเมืองท่องเที่ยวต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเร็ว ก็ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน พอยกเลิกภาวะฉุกเฉินปุ๊บก็ให้คนทานข้าวได้ พอต้นเม.ย.เปิดโรงเรียน โรงเรียนนี้เป็นสิ่งที่ระวังมากเลยนะ พอเปิดโรงเรียนนักเรียนเข้ามา นักเรียนติดเชื้อง่ายมากเพราะเด็กไม่แยกกันอยู่แล้ว เด็กก็เล่นกันแล้วเวลาเด็กติดเชื้อโควิดมันเหมือนหวัด อาการเล็กๆ น้อยๆ พอกลับถึงบ้านพ่อแม่มากอดก็ติดกันใหญ่ แป๊บเดียวมันเริ่มเกิดมีการกระจายใหม่”
“คุณหมอประสิทธิ์” บอกว่า 19 มี.ค.ฮอกไกโดยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ต้นเม.ย.เปิดเรียน 7 เม.ย.อีก 6 วันต่อมาเกิดการแพร่กระจายที่โตเกียวและอีก 6 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ต้องประกาศเป็นเขตฉุกเฉิน พออาทิตย์เดียว 14 เม.ย.ฮอกไกโดต้องปิดเมืองใหม่ และอีก 2 วันต่อมาประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศต้องปิดประเทศใหม่
ขณะที่อีกนานแค่ไหนประเทศไทยจะเหมือนเดิม “คุณหมอประสิทธิ์” อธิบายว่า สภาวะปกติของเราคือ มีโควิดอยู่กับเราต้องทำใจไว้แบบนี้เลย มีการคำนวณคร่าวๆไว้เรียบร้อยเลย 18-24 เดือนเผื่อไปเลย 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี เราก็จะเจอคนที่มีโควิด ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A สายพันธ์ุ B เราก็เจออยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราวแบบเดียวกัน มันจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง มันจะหายไปหากวัคซีนออก วัคซีนคือระบบคุ้มกันตามธรรมชาติ เพียงแต่แปลงให้เป็นระบบที่เราใส่เข้าไป
“ณ วันนี้คนที่ติดเชื้อไวรัสเหมือนกับคนถูกฉีดวัคซีน แต่ถึงวันนี้ทำใจไว้เลยวัคซีนที่จะออกมาฉีดได้ในโลกนี้ ไม่เร็วไปกว่าไม่เร็วไปกว่าเดือน มี.ค.ของปีหน้า”
“คุณหมอประสิทธิ์” ย้ำถึงประเด็นสำคัญที่ว่า เราจะทำให้คลื่นลูกที่ 2 รุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับคน 3 กลุ่ม
“คนกลุ่มที่ 1” ผู้บริหารประเทศ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอันนี้จำเป็นนะ ท่านอย่าผ่อนคลายอะไรเร็วเกินไปเราสื่อมาหลายครั้งค่อยๆ ผ่อน ดีกว่าผ่อนแล้วต้องกลับมาปิดประเทศใหม่ อย่าปกปิดความจริง ปล่อยให้ความจริงปรากฎ ดีกว่าประชาชนไปรู้เอง เพราะถ้าตัวเลขรัฐบาลบอกแบบหนึ่ง แต่ประชาชนไปรู้แบบหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นสถานการณ์คือประชาชนจะ Untrust ประชาชนจะไม่เชื่อแล้ว รัฐบาลพูดอะไรไม่จริงหรอก คราวนี้ยุ่งแล้วบอกให้ทำอะไรจะไม่ทำ
“คนกลุ่มที่ 2” ผู้ประกอบการ ขณะที่ท่านได้มีโอกาสแล้วทำให้ธุรกิจของท่านกลับมา แต่ท่านต้องช่วยกันนะ ต้องไม่ทำให้เกิดการแพร่ะกระจาย โดยการทำตามกฎระเบียบที่มีการทำหนดไว้ ทุกร้านที่มีคนเข้าต้องใส่หน้ากาก เตรียมแอบกอฮอล์เจลเอาไว้ให้ จัดที่นั่งรักษาระยะห่าง
“คนกลุ่มที่ 3” คนไทย คนที่ไปใช้บริการด้านต่างๆ ต้องระวังตัวท่านเอง ต่อให้ผู้ประกอบการเขาช่วย แต่ถ้าไม่ทำก็เกิดการแพร่กระจายอีก
“3 องค์ประกอบทุกคนต้องช่วยกัน ผู้บริหารประเทศ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้ประกอบการทั้งหลาย และก็ผู้ใช้บริการคือคนไทยทั้งประเทศ”
ทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือนจากศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ต่อสถานการณ์ “โควิด” ที่ยังไม่มีใครควบคุมได้เบ็ดเสร็จว่าทุกอย่างจะจบลงเมื่อใด.