“ศบค.” เผย ติด “โควิด-19” เพิ่ม 15 ราย ไร้คนดับ แจง “คณะที่ปรึกษาภาคเอกชน” กำลังพิจารณาผ่อนปรน สถานประกอบ ก่อนชง “ศบค.-ครม.” เคาะ เตือน ต้องไม่ระบาดระลอกสอง
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยังคงตัวเลขเดิมที่ 50 ราย โดยผู้ติดเชื้อจำนวนนี้มาจากการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ จ.ยะลา 4 ราย หลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะทำแบบนี้ในอีกหลายจังหวัดเพื่อหาเคสให้ได้มากขึ้น ส่วนคนที่กลับบ้านเพิ่มเติม 60 ราย หายป่วยสะสม 2,490 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 314 ราย ส่วนจังหวัดที่มีกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 6 อันดับแรก ได้แก่ กทม. ยะลา นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเหล่านี้หากมีอาการสามารถเข้าไปขอตรวจได้เลย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กราฟผู้ติดเชื้อของประเทศไทยจะเห็นว่าเป็นระลอกคลื่น มีช่วงติดเชื้อมาก2-3 ครั้งแล้ว จะให้เกิดการระบาดลูกใหม่ตามมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเสียชีวิตและงบประมาณตัวเลขเบื้องต้นที่เคยคำนวณป่วย 1 ราย ต้องใช้จ่าย 1 ล้านบาท ขณะนี้เรามีผู้ป่วยไปแล้ว 2 พันกว่าราย ใช้งบไปแล้วเกือบ 3 พันล้านบาท ถ้าตัวเลขผู้ป่วยเป็นหมื่นเป็นแสนเราต้องใช้เงินเท่าไร ซึ่งจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องชั่งกันสองด้าน เงินเสียบ้างแต่ดีกว่าเสียชีวิต เราไม่มีสิทธิ์ให้ใครอยู่หรือไปเหมือนในต่างประเทศ เราอยากจะให้ทุกคนอยู่กับเรา ไม่ว่าจะช่วงอายุไหน เราไม่อยากเป็นแบบต่างประเทศ หลายคนบอกว่าเบาใจได้ ออกมาขายของกัน แต่อยากให้ดูเพื่อนบ้านเรา เผลอนิดเดียวจากหลักพันเป็นหลักหมื่นราย เราจึงต้องระวังและตัดสินใจร่วมกันให้ประเทศเราอยู่รอดปลอดภัย ทั้งนี้ ขณะนี้เรามีศักยภาพตรวจเชื้อในประเทศได้วันละประมาณ 2 หมื่นตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม. 10,000 ราย และต่างจังหวัด 10,000 ราย เราจะเพิ่มจำนวนห้องตรวจจากตอนนี้ 123 แห่งทั่วประเทศ ให้ได้ 176 แห่ง ซึ่งต่อไปจะทำให้ได้ในทุกจังหวัดในระยะเวลาอันสั้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วย 2,715,614 ราย เสียชีวิต 190,422 ราย หรือ 7% จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคตามฤดูกาล และลดความสำคัญไมได้ เพราะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง หลายประเทศยังตึงและขยายมาตรการเอาไว้แนวโน้มเป็นแบบนี้ทั้งสิ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคาดการณ์คงจะไม่แตกต่างกัน ดังนั้น เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้มาตรการเข้มข้นแบบนี้ หลายที่ทำแล้วต้องทำต่อ ต้องพยายามไม่ให้การ์ดตกต้องใช้ต่อ นอกจากนี้ ในพื้นที่อเมริกาใต้มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปเรียนมีความเป็นห่วง ยืนยันว่าสถานทูตแต่ละแห่งทำงานอย่างหนักเพื่อติดต่อนักเรียนไทยในประเทศต่างๆ แต่การเดินทางกลับประเทศไทยนั้นมีหลายปัจจัย เช่น บางประเทศปิดสนามบิน แต่ในส่วนของเราเตรียมปลายทางไว้รองรับแล้วถ้าปัจจัยต่างๆ เปิดก็กลับมาได้ทันที โดยวันที่ 24 เม.ย.จะมีคนไทยกลับจากญี่ปุ่น 31 คน อินเดีย 171 คน ส่วนวันที่ 25 เม.ย. อิหร่าน21 คน อินเดีย 171 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติการด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 23 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 24 เม.ย. หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับเปลี่ยนมาตรการจากการตั้งด่านตรวจมาเป็นสายตรวจ ทำให้ตัวเลขของการดำเนินคดีลดลง โดยมีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 482 รายลดลงจากคืนก่อน 135 ราย ชุมนุม มั่วสุม 39 ราย ลดลงจากคืนก่อน 67 ราย ถือเป็นการตัวเลขต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ ส่วนจังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุด คือ ปทุมธานี รองลงมาได้แก่ กทม. ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี นนทบุรี กระบี่ ลพบุรี สระบุรี และสุรินทร์ ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มก้อนใหญ่ที่กระทำผิดรวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. มีทั้งสิ้น 1,972 ราย เพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่อายุไม่เกิน 18 ปี และอายุ 19-30 ปี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แม้หลายประเทศจะมีมาตรการคล้ายคลึงกับประเทศไทยแต่ที่ตัวเลขเราดีกว่าประเทศอื่นๆ เป็นเพราะการให้ข้อมูลชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์จนเกิดความร่วมมือ ระบบบริหารจัดการตั้งแต่ระดับนโยบายไปสู่ระดับจังหวัดที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ ระบบสาธารณสุขของไทยที่วางเอาไว้เป็นร้อยปี รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ดูแลประชาขนอย่างทั่วถึง ที่สำคัญ คือ ความร่วมมือของประชาชน เครดิตนี้ไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องได้รับรางวัลของความสำเร็จนี้
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าแต่ละจังหวัดเริ่มให้สถานประกอบการบางประเภทกลับมาเปิดได้ตรงนี้แต่ละจังหวัดประเทศประกาศเอง หรือต้องประสานกับ ศบค.ก่อน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการผ่อนปรน ผอ.ศบค.จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นลักษณะของการออกกฎใหญ่ของประเทศ ส่วนการผ่อนคลายเป็นเรื่องของจังหวัดที่จะตามมาซึ่ง ศบค.รับทุกเรื่องไม่ได้ จึงตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค. ที่มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน เข้ามามีส่วนร่วมและปรึกษากันถ้าจะมีการผ่อนปรน โดยกำลังทำงานกันอยู่ และจะนำเสนอชุดข้อมูลให้ผอ.ศบค.ตัดสินใจนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ จากนั้นต้องมาดูว่าเป็นกิจการและกิจกรรมอะไร ที่จะค่อยๆ ออกมาๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกคิดและปรึกษากันอย่างรอบด้าน ออกมาคนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย และมาตรการทั้งหลายจะต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาด เพราะเราจะปล่อยให้มีการระบาดระลอกที่สองไม่ได้อีกแล้ว