กมธ. พัฒนาสังคมฯ ร่วมกับกรมหม่อนไหม จัดกิจกรรม “วุฒิสภา สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2565

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ บริเวณหน้าห้องประชุมวุฒิสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรม “วุฒิสภา สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน กล่าวเปิดกิจกรรม และนางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยพลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง สมาชิกวุฒิสภา นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และนายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรม
.
นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผ้าไทยและสวมใส่ผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย การรักษามรดกและอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นศิลปะอันล้ำค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมอาชีพให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นการสร้างความสามัคคีของประชาชนในชุมชนและเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการตระหนักในคุณค่าและรักษ์วัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม ได้แก่ 1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2565 2.เพื่อร่วมรณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ผ้าไทย 3. เพื่อร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทยให้แพร่หลายและคงอยู่สืบไป และ 4.เพื่อส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยและตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น

ประธานวุฒิสภา กล่าว่า “ผ้าไทย” ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของไทยและเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งการทอผ้าถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งผ้าไทยมีหลากหลายชนิด และลวดลาย ซึ่งผ้าไทยแต่ละชนิดสะท้อนถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ด้วยลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใด รวมทั้งยังสามารถนำผ้าไทยมาออกแบบให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความสุภาพ และมีความเรียบร้อยแบบไทย ๆ ไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น และการรณรงค์ส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาควรสวมใส่ผ้าไทย และส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างในการประยุกต์ใช้ผ้าไทยและสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงคุณค่าและความงดงามของผ้าไทย และหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทยให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และประเทศชาติอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนและประเทศพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป
.
จากนั้น ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา ได้เยี่ยมชมกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การถ่ายทอดความรู้ พร้อมการสาธิตการแต่งผ้าไทย โดยคุณรุ้ง ศิริรัตน์ ราษฎร์นิยม ผู้มีหัวใจอนุรักษ์ผ้าไทยมายาวนาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการนุ่งซิ่น การจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงาน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ นิทรรศการ “หม่อนไหมสายใยพระมารดา สืบทอดภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” โดยมีรองอธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการ นิทรรศการการเรียนรู้กระบวนการทอผ้าครบวงจร โดย คุ้มจันทร์หอม จังหวัดอุบลราชธานี นิทรรศการการทอผ้าไหมของชุมชนทอผ้า โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย จังหวัดสุรินทร์ และมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ อ่านบทกวีเกี่ยวกับผ้าไหมสุรินทร์ รวมทั้งนิทรรศการภาพถ่ายสวมชุดผ้าไทย ของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย การรักษามรดก และอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ยังมีบูธจำหน่ายดอกมะลิวันแม่ โดยสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์