โคราช ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปชช.แล้ว ขณะที่ผู้ว่าเร่งสั่งทุกพื้นที่งดเผาซากพืชผลเกษตร ฝ่าฝืนจับปรับจริงไม่ละเว้น
นครราชสีมา-วันนี้ (20 มกราคม 2567) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นมลพิษวันนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านแอพพลิเคชัน Air4Thai พบว่า อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ใน 5 พื้นที่ คือที่ จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และ จ.เลย ที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง เฉลี่ยตรวจวัดได้ 18.7-60.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งที่ จ.นครราชสีมา บริเวณสถานีสูบน้ำประตูพลแสน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ตรวจวัดผ่านแอพฯ Air4Thai วันนี้ พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 44.8ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index ตรวจวัดได้ที่ 120 AQI ซึ่งฝุ่นมลพิษในอากาศเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น ไต่ระดับจนมีผลกระทบต่อสุขภาพมาหลายวันแล้ว โดยปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษซากผลผลิตทางการเกษตรในที่โล่งแจ้งมากที่สุด และมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ควันดำจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ , การเผาขยะ ,ไฟป่า เป็นต้น แม้ว่านายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะสั่งกำชับทั้ง 32 อำเภอ รณรงค์ประชาชนและเกษตรกรให้งดเผาขยะหรือซากพืชผลทางการเกษตร โดยออกประกาศเป็นคำสั่งจังหวัดฯ สั่งทุกพื้นที่งดเผาซากพืชผลเกษตร หากฝ่าฝืนลักลอบเผาโดยไม่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ฯ ให้ทราบ ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายจับ-ปรับทันที ไม่มีการละเว้น
ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน หรือ GISDA) รายงานข้อมูลล่าสุดวานนี้(19 มกราคม 2567) ว่า จังหวัดนครราชสีมา มีค่าจุดความร้อน (Hot Spot) จำนวน 20 จุด โดยเกิดในพื้นที่เกษตรมากสุด 12 จุด , ป่าสงวน 5 จุด , เขต สปก. 2 จุด และพื้นที่อื่นๆ อีก 1 จุด ทำให้เกิดการสะสมของปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสภาพอากาศในช่วงนี้เริ่มร้อนแล้งเพิ่มมากขึ้น หากยังมีการลักลอบเผาแบบนี้ จะมีความเสี่ยงสูงที่ไฟจะลามไหม้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดฝุ่นมลพิษฟุ้งกระจายเป็นวงกว้าง มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ขอให้ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร และจำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก รวมถึง ให้สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ .
///////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา