สุวัจน์ ชูของดีเมืองโคราช กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ หนุน โคราช “เมือง 3 มรดกยูเนสโก้” เป็นมหานครแห่งบรรพชีวิตโลก ผลักดัน เป็นย่านท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่คนทั่วโลกต้องมา
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.) เป็นประธานเปิดงาน “ฟอสซิลเฟสติวัล” ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “มหานครแห่งบรรพชีวินของโลก World Paleontopolis” จัดโดย มรภ.นครราชสีมา โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ หน่วยงานศูนย์กลางการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลก ร่วมกับอุทยานธรณีโลกโคราช ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ โคราช และภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่ 25 – 28 มกราคม 2567 ณ วาไรตี้ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ โคราช จังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ กล่าวว่า การจัดงาน ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 8 เป็นครั้งที่สำคัญมาก เนื่องจากโคราชได้รับการประกาศให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 โดยครอบคลุม พื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ และเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทั้ง 5 อำเภอเต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยฟอสซิลต่าง ๆ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น ไม้กลายเป็นหิน ซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซากช้างโบราณ ซากไดโนเสาร์ ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ มรภ.นครราชสีมา เป็นต้นเรื่องในการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีโคราช ต่อมายูเนสโก้ได้มาตรวจและเห็นความสำคัญ จึงประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ส่งผลให้โคราชเป็นมหานครบรรพชีวินที่เต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์
“นอกจากนี้ โคราช ยังเป็น 1 ใน 4 ของทุกจังหวัดในโลกที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบคือ 1. มรดกโลก : กลุ่มดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และ 3. จีโอพาร์คโลก : โคราชจีโอพาร์คโลก จึงได้รับการขนานนามให้เป็น “โคราชเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Heritage City” การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศให้ประชาชนได้รู้ ได้เห็นถึงศักยภาพของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศเรายังไม่ดี การลงทุน และการส่งออกลดลง ฉะนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจได้คือ การท่องเที่ยว ถ้าวันนี้ด้วยศักยภาพและการผลักดันในเชิงนโยบายของรัฐบาล หากสามารถทำให้เลขนักท่องเที่ยวกลับมาเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด คือ ราว 40 ล้านคน ก็จะสามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างเสมอภาค ไม่มีความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าจีดีพี จะไม่โตมากนัก แต่รายได้จากการท่องเที่ยว จะมาพยุงทุกชีวิตในชนบท และเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวมาเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้น จ.นครราชสีมาในฐานะที่เป็นประตูสู่อีสาน จะต้องทำให้ดินแดน UNESCO Triple Heritage City เป็นประติมากรรมด้านการท่องเที่ยว เชิงธรรมชาติ เชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หาได้ยากมากในโลก โดยสามารถเชื่อมโยงเป็น UNESCO route หรือเส้นทางยูเนสโก ทำให้เป็นย่านท่องเที่ยวใหม่ของประเทศและของโลก ที่ทุกคนต้องมา
สำหรับการดำเนินการนั้น นายกสภา มรภ.นครราชสีมา กล่าวว่า ต้องมีการตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัด ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนทั้ง มหาวิทยาลัย เอกชน ส่วนราชการ กรมทางหลวง กรมทางเหลวงชนบท หน่วยงานงานท่องเที่ยวของจังหวัด ฯลฯ มาระดมสมอง บูรณาการความคิดว่าจะทำอย่างไร ให้โคราชเป็นย่านท่องเที่ยวแห่งใหม่ของโลกได้ วันนี้วัตถุดิบเรามีอยู่แล้ว ทาง มรภ.นครราชสีมาในฐานะต้นเรื่อง ก็ต้องปรึกษากับทางจังหวัดว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร ที่จะทำให้ดินแดน โคราชเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก้ เป็นจุดขายของประเทศได้เช่นเดียวกับ อาหาร มวยไทย เสื้อผ้า วัฒนธรรม รวบรวมของดีเมืองโคราชที่จะช่วยมากอบกู้วิกฤติชาติได้